นายสตีเฟน ดูจาร์ริค โฆษกของยูเอ็น กล่าวในงานแถลงข่าวว่า การกำหนดภาวะฉุกเฉินในระดับ 3 ถือเป็นระดับสูงสุดในลำดับความสำคัญด้านมนุษยธรรมระดับโลกสำหรับยูเอ็นและองค์กรที่เกี่ยวข้อง
ด้านนายนิโคไล มลาเดนอฟ ผู้แทนพิเศษของเลขาธิการยูเอ็นกล่าวว่า การประกาศดังกล่าวจะช่วยอำนวยความสะดวกในระดมทรัพยากรเพิ่มเติมด้านอาหาร เงินทุนและสินทรัพย์ต่างๆ เพื่อสร้างความมั่นใจเกี่ยวกับการรับมือที่มีประสิทธิภาพมากขึ้นต่อความต้องการด้านมนุษยธรรมของประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากการที่ต้องอพยพออกจากที่อยู่อาศัย
ยูเอ็นประเมินว่า ชาวอิรักกว่า 1.2 ล้านคนต้องอพยพออกจากบ้านเรือนหลังเกิดเหตุรุนแรงจากกลุ่มติดอาวุธรัฐอิสลาม (IS) โดยนับตั้งแต่กลางเดือนมิ.ย.ที่ผ่านมา ยูเอ็นได้ให้ความช่วยเหลือประชาชนหลายหมื่นคนในด้านอาหาร น้ำดื่ม ที่พักอาศัย การดูแลสุขภาพ และความช่วยเหลือทางการแพทย์
นายดูจาร์ริคกล่าวว่า กองทุนเพื่อเด็กแห่งสหประชาชาติ (UNICEF) ได้ทำงานร่วมกับองค์กรด้านมนุษยธรรมที่เกี่ยวข้องในการเดินหน้าความพยายามเพื่อรับมือกับความต้องการที่เพิ่มมากขึ้นของประชาชนที่มาจากภูเขาซินจาร์ โดยแสดงความเห็นว่า ประชาชนหลายหมื่นคนยังคงติดอยู่บนภูเขาและหลายรายมีสุขภาพย่ำแย่ลง
สำนักงานข้าหลวงใหญ่ผู้ลี้ภัยแห่งสหประชาชาติ (UNHCR) ระบุว่า มีผู้ลี้ภัยกว่า 4 แสนรายซึ่งส่วนใหญ่มาจากชนกลุ่มน้อยชาวอิรักได้อพยพมายังเมืองโดฮุคในเขตปกครองของชาวเคิร์ด เพื่อหลีกเลี่ยงความรุนแรงจากกลุ่มก่อการร้าย
ทั้งนี้ UNHCR ได้เริ่มอพยพผู้ลี้ภัยชาวอิรักที่เพิ่งมาถึง ออกจากบริเวณพรมแดนไปยังแคมป์นิวรอซใกล้กับเมืองอัล คามิชลี ซึ่ง UNHCR ได้จัดหาเต็นท์ ผ้าห่ม อุปกรณ์ด้านสุขอนามัยและสิ่งจำเป็นอื่นๆไว้รองรับ สำนักข่าวซินหัวรายงาน