แถลงการณ์จากคณะกรรมการสร้างสันติภาพของรัฐบาลพม่า (UPWC) และคณะประสานงานหยุดยิงแห่งพม่า (NCCT) ของกลุ่มชาติพันธุ์ติดอาวุธ เปิดเผยว่า ทั้ง 2 ฝ่ายเห็นพ้องที่จะหารือร่วมกันต่อในเดือนกันยายนในรายละเอียดร่างข้อตกลงยุติการสู้รบที่เหลืออีก 5 ประการ โดยคาดว่าจะมีการลงนามข้อตกลงดังกล่าวในเดือนตุลาคม
ในระหว่างการหารือหยุดยิงที่จัดขึ้นเป็นระยะเวลา 3 วันตั้งแต่วันศุกร์ถึงเมื่อวานนี้ ณ ศูนย์สันติภาพพม่า ฝ่ายรัฐบาลได้โอนอ่อนครังสำคัญด้วยการทำตามข้อเรียกร้องของกลุ่มชาติพันธุ์ติดอาวุธที่ต้องการสร้างระบบรัฐบาลแบบสหพันธรัฐ ซึ่งจะรับประกันสิทธิแห่งประชาธิปไตย ความเท่าเทียมกันของเชื้อชาติต่างๆ และสิทธิของประชาชนในการเลือกรูปแบบการปกครองและรัฐบาลของตน
นอกจากนี้ ฝ่ายกลุ่มชาติพันธุ์ติดอาวุธยังเห็นด้วยกับหลักปฏิบัติของรัฐบาลที่ประกอบด้วยการไม่แบ่งแยกดินแดน, การสร้างความสามัคคีในชาติ และการคงไว้ซึ่งอำนาจอธิปไตย
ส่วนรายละเอียดที่ยังคงค้างคาอยู่อีก 5 ประการนั้นจะมีการหารือกันในการประชุมครั้งต่อไปในเดือนกันยายน และคาดว่าจะสรุปได้ในการประชุมดังกล่าว โดยประกอบด้วย ประเด็นการพักรบชั่วคราว, การรับประกันเกี่ยวกับการหารือทางการเมือง, กระบวนการทำงานระหว่างช่วงการเจรจา และประเด็นทั่วไปบางประการ
นายอู อ่อง มิน รองประธาน UPWC และเป็นรัฐมนตรีประจำทำเนียบประธานาธิบดี กล่าวในพิธีเปิดการประชุมเมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมาว่า กระบวนการสันติภาพของพม่าได้เข้าสู่ช่วงที่สำคัญ และข้อตกลงยุติการสู้รบในครั้งนี้ถือเป็นครั้งแรกของหน้าประวัติศาสตร์ของประเทศ
เขากล่าวว่า “สิ่งที่เราพยายามจะทำนั้นไม่เพียงแค่การลงนามข้อตกลงหยุดยิง แต่ยังรวมถึงการปูพื้นฐานที่แข็งแกร่งสำหรับการหารือทางการเมืองต่อไป"
เขากล่าวโดยอ้างคำสั่งจากนายอู เตียน เซียน ประธาน และผู้บริหาร UPWC ว่า ในการเจรจาทางการเมือง จะมีการอภิปรายประเด็นต่างๆยกเว้น “การแบ่งแยกดินแดน" และ “การริดรอนอำนาจอธิปไตย"
หลังจากการประชุมในครั้งนี้ผ่านพ้นไป คาดว่าจะมีการจัดประชุมระหว่าง UPWC, NCCT และ พรรคการเมืองต่างๆร่วมกันเป็นครั้งแรกในย่างกุ้งช่วงค่ำของวันนี้ เพื่อเป็นการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นในด้านกระบวนการสันติภาพ
ก่อนหน้านี้ UPWC และบรรดาผู้นำจากกลุ่มชาติพันธุ์ติดอาวุธเคยร่วมหารือกันเป็นครั้งแรกเมื่อเดือนพฤศจิกายน 2556 ณ เมืองมิตจีนา ซึ่งเป็นเมืองหลวงของรัฐคะฉิ่น เพื่อเจรจาเรื่องการหยุดรบทั่วประเทศ และหลังจากนั้น UPWC จึงได้ประชุมร่วมกับ NCCT หลายวาระเพื่อร่วมกันร่างข้อตกลงยุติการสู้รบทั่วประเทศ
ในช่วงที่มีการเจรจายุติการสู้รบทั่วประเทศ บรรดาผู้นำกลุ่มชาติพันธุ์ติดอาวุธก็ได้จัดการประชุมสุดยอดของพวกเขาเองเป็นจำนวน 3 ครั้ง
ทั้งนี้ กลุ่มชาติพันธุ์ติดอาวุธเริ่มก่อตัวขึ้นในพม่าเมื่อยุค 1950 และนับตั้งแต่ที่รัฐบาลปัจจุบันเข้าดำรงตำแหน่งเมื่อเดือนมีนาคม 2554 รัฐบาลได้ผลักดันกระบวนการปรองดองของชาติมาอย่างต่อเนื่อง และสามารถไกล่เกลี่ยให้กลุ่มชาติพันธุ์ติดอาวุธพักรบได้ 14 กลุ่ม จากจำนวน 16 กลุ่ม