นายจอห์น เคอร์บี้ โฆษกกระทรวงกลาโหมสหรัฐ กล่าวว่า "ไม่มีการเปลี่ยนแปลงในส่วนของภารกิจในอิรัก โดยสหรัฐได้อนุมัติการโจมตีทางอากาศภายใต้สองขอบข่ายภารกิจด้วยกัน ได้แก่การมอบความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรม และคุ้มครองบุคลากรและสิ่งก่อสร้างของสหรัฐ"
เขากล่าวว่า การโจมตีทางอากาศบริเวณภายในและนอกเขื่อนโมซุลนั้นเข้าข่ายทั้งสองประการ
"เราเชื่อว่า หากเขื่อนดังกล่าวอยู่ภายใต้การควบคุมของ ISIL ที่ดูมีเจตนารมณ์ค่อนข้างไม่ชัดเจน อีกทั้งไม่เป็นประโยชน์อันดีต่อประชาชนชาวอิรัก อาจเกิดการระเบิดหรือเปิดประตูเขื่อนเพื่อให้น้ำท่วม ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อเนื่องไปทางตอนใต้ถึงกรุงแบกแดด" เขากล่าว
เขาเสริมว่า กองทัพอิรักและชาวเคิร์ดยังคงเป็นผู้ควบคุมเขื่อนที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในอิรัก ซึ่งผลิตน้ำ ไฟฟ้า และควบคุมอุทกภัยแก่ประชาชนชาวโมซุลราว 1.7 ล้านคน
สถานที่ตั้งของเขื่อนและสถานการณ์ที่ไม่ปลอดภัยนั้นบ่งชี้ว่า หากเขื่อนตกอยู่ภายใต้การควบคุมของกลุ่ม ISIL แล้ว จะเป็นภัยคุกคามต่อบุคลากรและสิ่งก่อสร้างของสหรัฐในกรุงแบกแดด ทั้งนี้หากเขื่อนเกิดภาวะขัดข้องหรือถูกทำลาย ความเสียหายที่เกิดขึ้นอาจกลายเป็นความหายนะด้านมนุษยธรรมในที่สุด
รายงานจากนักธรณีวิทยาของมหาวิทยาลัยโมซุลเมื่อปี 2552 คาดการณ์ว่า พื้นที่ในเมืองโมซุลถึง 54% อาจอยู่ใต้น้ำสูงถึง 83 ฟุต (25.3 เมตร) หากเขื่อนแตก สำนักข่าวซินหัวรายงาน