การวิจัยดังกล่าว ซึ่งนำโดยคณะนักวิจัยจากสถาบัน Scripps Research Institute และเผยแพร่โดยวารสาร Proceedings of the National Academy of Sciences ของสหรัฐ นำเสนอภาพสามมิติที่แสดงถึงกระบวนการจับตัวไวรัสของแอนติบอดี ZMapp
"ภาพโครงสร้างไวรัสอีโบลานั้นเปรียบเสมือนการสำรวจหาสิ่งที่เป็นภัย" Erica Ollmann Saphire นักชีววิทยาเชิงโครงสร้างของ Scripps และผู้เขียนร่วม กล่าว "ซึ่งช่วยระบุตำแหน่งในการส่งแอนติบอดีหรือยา"
ด้วยเทคนิคการสร้างภาพผ่านหลักจุลทรรศนศาสตร์อิเล็กตรอน ผลการศึกษาพบว่า แอนติบอดี ZMapp สองตัวจับตัวใกล้กับฐานไวรัส ซึ่งช่วยป้องกันไม่ให้ไวรัสพุ่งเข้าหาเซลล์
ส่วนแอนติบอดีตัวที่สามจับตัวอยู่ใกล้บริเวณด้านบนของไวรัส ซึ่งคาดว่าทำหน้าที่เป็นเครื่องบอกตำแหน่งการติดเชื้อแก่ระบบภูมิคุ้มกันโรคในร่างกาย
แอนดรูว์ วาร์ด นักชีววิทยาเชิงโครงสร้างอีกรายของ Scripps และผู้เขียนร่วม กล่าวว่า "เมื่อเราทราบถึงกระบวนการของ ZMapp ในการระบุตำแหน่งอีโบลาแล้ว เราจึงสามารถดำเนินการเปรียบเทียบแอนติบอดีต่อต้านไวรัสอีโบลาใหม่ๆ ขณะที่เราเดินหน้าคิดค้นสูตรยารักษาโรคด้วยภูมิคุ้มกันบำบัดที่มีประสิทธิภาพกว่าเดิม"
ทั้งนี้ ยา ZMapp ซึ่งได้รับการพัฒนาโดย Mapp Biopharmaceutical ในซานดิเอโก ถูกนำไปใช้เพื่อรักษาผู้ที่ติดเชื้อไวรัสอีโบลาหลายรายในเดือนส.ค.
Scripps เปิดเผยว่า ผู้ป่วยห้าในเจ็ดรายที่ได้รับยา ZMapp นั้นยังคงมีชีวิตอยู่ โดยคาดว่าตัวยาดังกล่าวจะเข้าสู่ระยะทดลองเชิงคลินิกในช่วงต้นปี 2558 สำนักข่าวซินหัวรายงาน