อย่างไรก็ดี มี 7 ประเทศที่ยังไม่ได้ลงนามในธรรมนูญ AIIB ในวันนี้ ซึ่งได้แก่ ไทย มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ คูเวต เดนมาร์ก โปแลนด์ และแอฟริกาใต้ โดยประเทศดังกล่าวมีเวลาจนถึงปลายปีนี้ในการตัดสินใจลงนาม
ธรรมนูญของธนาคาร AIIB ทั้ง 60 ข้อนั้น ครอบคลุมถึงการมีส่วนร่วมด้านการเงินของสมาชิกแต่ละประเทศ การกำหนดนโยบาย ระบบธุรกิจและการดำเนินงาน และโครงสร้างธรรมาภิบาล
รายงานระบุว่า AIIB จะมีเงินทุนทั้งสิ้น 1 แสนล้านดอลลาร์ โดยประเทศในเอเชียจะมีหุ้นส่วนใน AIIB สูงถึง 75% ของเงินทุนทั้งหมด และจะมีการจัดสรรหุ้นส่วนโควต้าตามขนาดเศรษฐกิจของแต่ละประเทศ
ทั้งนี้ จีน อินเดีย และรัสเซีย เป็น 3 ประเทศผู้ถือหุ้นรายใหญ่สุด โดยจะได้สัดส่วนในการโหวต 26.06%, 7.5% และ 5.92% ตามลำดับ
ถึงแม้จีนเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่สุดใน AIIB แต่ก็จะยังไม่มีสิทธิในการวีโต้
ธนาคาร AIIB ซึ่งมีสำนักงานใหญ่ตั้งอยู่ในกรุงปักกิ่งนั้น จะเริ่มดำเนินงานในช่วงปลายปีนี้ภายใต้เงื่อนไข 2 ประการ คือการมีสมาชิกอย่างน้อย 10 ประเทศที่ร่วมลงนามรับรองธรรมนูญ และมีเงินทุนเบื้องต้นไม่น้อยกว่า 50% ของเงินทุนที่ผ่านความเห็นชอบ
นายสี จิ้นผิง ประธานาธิบดีของจีน เปิดเผยว่า การลงนามข้อตกลง AIIB เป็นก้าวสำคัญครั้งประวัติศาสตร์ในการจัดตั้งธนาคารพหุภาคีที่จีนเป็นผู้ริเริ่ม