"รัฐบาลมาเลเซียได้ใช้ความพยายามอย่างมากในการปฏิบัติตามมาตรฐานขั้นต่ำในการแก้ไขปัญหาการค้ามนุษย์ โดยมีการออกกฎหมายเพิ่มเติมในปีที่แล้ว ขณะที่มีการปรึกษาหารือกับภาคประชาชน" นายแคร์รี่กล่าว
อย่างไรก็ดี เขากล่าวเสริมว่า มาเลเซียยังคงมีงานต้องทำอีกมาก และหากไม่มีการดำเนินการเพิ่มเติม ก็จะถูกปรับลดอันดับในปีหน้า
ทั้งนี้ ในรายงานสถานการณ์การค้ามนุษย์ (Trafficking in Persons (TIP) Report) ประจำปี 2015 นั้น สหรัฐได้ถอดมาเลเซียออกจากอันดับเทียร์ 3 ซึ่งเป็นระดับต่ำสุด สู่ระดับเทียร์ 2 ที่ต้องจับตามอง
การดำเนินการดังกล่าวของสหรัฐได้ถูกวิพากษ์วิจารณ์ว่าทำไปเพื่อให้มาเลเซียสามารถเข้าร่วมเขตการค้าเสรีตามข้อตกลงหุ้นส่วนยุทธศาสตร์เศรษฐกิจเอเชีย-แปซิฟิก หรือ ทีพีพี ซึ่งมีสหรัฐเป็นผู้นำ เนื่องจากกฎหมายของสหรัฐห้ามรัฐบาลมิให้ลงนามในสนธิสัญญาทางการค้ากับประเทศที่ถูกจัดอันดับอยู่ในเทียร์ 3
ขณะเดียวกัน สหรัฐยังคงจัดให้ไทยอยู่ในระดับเทียร์ 3 ซึ่งเป็นระดับต่ำสุดเป็นปีที่ 2 ติดต่อกัน
ทั้งนี้ รายงานดังกล่าวได้ประเมินความพยายามของรัฐบาลทั่วโลกจำนวน 188 ประเทศในการจัดการกับการค้าทาสยุคใหม่ โดยรายงานได้จัดอันดับการแก้ไขปัญหาการค้ามนุษย์ของประเทศต่างๆ เป็น 4 ระดับ คือ เทียร์ 1, เทียร์ 2, เทียร์ 2 ที่ต้องจับตามอง และเทียร์ 3