ปธน.อินโดฯส่งสัญญาณจีนอาจคว้าชัยประมูลโครงการรถไฟความเร็วสูง

ข่าวต่างประเทศ Thursday September 3, 2015 19:29 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

ประธานาธิบดีโจโก วิโดโด ของอินโดนีเซียส่งสัญญาณในวันนี้ว่า จีนอาจจะเป็นผู้ชนะประมูลโครงการรถไฟความเร็วสูงของอินโดนีเซีย แม้ว่าเขายังไม่ได้ระบุชัดเจนว่าจีนหรือญี่ปุ่นเป็นผู้ชนะโครงการดังกล่าว

ทั้งนี้ ในระหว่างที่เข้าเยี่ยมชุมชนแออัดแห่งหนึ่งทางเหนือของกรุงจาการ์ตาในวันนี้ ปธน.วิโดโดกล่าวว่า โครงการดังกล่าวจะไม่ได้รับการสนับสนุนจากงบประมาณแผ่นดิน และรัฐบาลไม่ต้องให้การค้ำประกัน ขณะที่รัฐบาลจะให้ความสำคัญในการใช้วัตถุดิบภายในประเทศ

คำกล่าวของปธน.วิโดโดถือว่าสอดคล้องกับเงื่อนไขของจีน ซึ่งระบุว่า รัฐบาลอินโดนีเซียไม่จำเป็นต้องให้การค้ำประกันโครงการดังกล่าว ขณะที่ญี่ปุ่นมีเงื่อนไขว่ารัฐบาลอินโดนีเซียจะต้องให้การค้ำประกันค่าใช้จ่ายในโครงการ

นอกจากนี้ จีนยังระบุว่าจะใช้วัตถุดิบในอินโดนีเซียจำนวน 58% ของการดำเนินโครงการดังกล่าว ซึ่งสูงกว่าญี่ปุ่นซึ่งเสนอไว้ที่ 51% แม้ว่าต่อมาญี่ปุ่นเสนอเพิ่มเป็น 70% แต่ข้อเสนอดังกล่าวก็มีการยื่นหลังจากที่เลยกำหนดเส้นตายสำหรับการยื่นเงื่อนไขเพิ่มเติม

นายดาร์มิน นาซูติออน หัวหน้ารัฐมนตรีเศรษฐกิจของอินโดนีเซีย กล่าวว่า บรรดารัฐมนตรีได้เสร็จสิ้นการพิจารณาข้อเสนอโครงการรถไฟความเร็วสูงของรัฐบาลจีนและญี่ปุ่นแล้ว และได้มีการยื่นข้อเสนอแนะให้แก่ปธน.วิโดโดในวันนี้แล้ว

นายนาซูติออนปฏิเสธที่จะเปิดเผยว่าบรรดารัฐมนตรีได้ตัดสินให้ชาติใดเป็นผู้ชนะประมูลโครงการดังกล่าว และยังไม่แน่นอนว่าปธน.วิโดโดจะประกาศรายชื่อผู้ชนะเมื่อใด

ทางด้านนายปราโมโน อานุง เลขาธิการรัฐมนตรี กล่าวว่า ปธน.วิโดโดเตรียมประกาศรายชื่อผู้ชนะในวันที่ 7 ก.ย.

ทั้งนี้ โครงการก่อสร้างทางรถไฟความเร็วสูงที่เชื่อมระหว่างกรุงจาการ์ตาและเมืองบันดุงในชวาตะวันตก เป็นส่วนหนึ่งของโครงการรถไฟความเร็วสูงระยะทาง 750 กม.ของอินโดนีเซีย ซึ่งจะเชื่อม 4 จังหวัดบนเกาะชวา และจะสิ้นสุดที่เมืองสุราบายา

ทั้งจีนและญี่ปุ่นเสนอให้เงินกู้แก่อินโดนีเซียสำหรับโครงการนี้ โดยให้ชำระคืนภายในเวลา 40 ปี โดยมีช่วงเวลาปลอดหนี้ 10 ปี อย่างไรก็ดี ญี่ปุ่นคิดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ 0.1% ขณะที่อัตราดอกเบี้ยของจีนอยู่ที่ 2.0%

เจ้าหน้าที่อินโดนีเซียระบุว่าจะพิจารณาจากหลากหลายปัจจัยในการตัดสินผู้ชนะในโครงการนี้ ซึ่งได้แก่ ด้านเทคโนโลยี และความปลอดภัย รวมทั้งการใช้วัตถุดิบภายในประเทศ และการถ่ายโอนเทคโนโลยีสู่อินโดนีเซีย


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ