ทั้งนี้ กระทรวงขนส่งและโครงสร้างพื้นฐานของอิตาลีระบุว่า ทางกระทรวงจะขอข้อมูลจากทางบริษัทและสำนักงานขนส่งทางบกของเยอรมนี รวมทั้งเจ้าหน้าที่จากประเทศอื่นๆในยุโรป
กระทรวงออกแถลงการณ์ระบุว่า "ทางกระทรวงต้องการจะรู้ว่าความผิดที่ทางบริษัทได้กระทำในสหรัฐ ได้เกิดขึ้นในยุโรปโดยผ่านการอนุมัติจากทางการเยอรมนีหรือไม่ และรถยนต์ที่มีปัญหาดังกล่าวมีการจำหน่ายในอิตาลีหรือไม่"
เมื่อวันศุกร์ สหรัฐระบุว่าโฟล์คสวาเกนได้ติดตั้งซอฟท์แวร์ในรถยนต์ดีเซลเกือบ 5 แสนคันเพื่อทำให้ดูเหมือนว่ามีการปล่อยไอเสียน้อยกว่าความเป็นจริง
หากพบว่าบริษัทมีความผิดจริง ก็จะถูกทางการสหรัฐปรับเป็นเงินจำนวน 37,500 ดอลลาร์ต่อคัน ซึ่งจะรวมกันมากกว่า 1.8 หมื่นล้านดอลลาร์ หรือเกือบ 650,000 ล้านบาท
วิกฤตการณ์ของโฟล์คสวาเกนได้ลุกลามออกไปในวันนี้ จากการที่สหรัฐระบุว่าจะขยายการสอบสวนเรื่องดังกล่าวไปยังผู้ผลิตรถยนต์รายอื่นด้วย หลังจากที่โฟล์คสวาเกนได้แจ้งตัวเลขเท็จเป็นเวลากว่า 1 ปี ขณะที่เกาหลีใต้จะทำการสอบสวนกรณีนี้ต่อรถยนต์โฟล์คสวาเกนที่มีการจำหน่ายในประเทศ และทางการฝรั่งเศสเรีกร้องให้มีการตรวจสอบทั่วทั้งสหภาพยุโรป
คณะกรรมการตรวจสอบของโฟล์คสวาเกนจะประชุมกันในวันพรุ่งนี้เพื่อหารือถึงวิกฤตการณ์ดังกล่าว และบอร์ดบริหารของทางบริษัทจะประชุมกันในวันศุกร์นี้เพื่อหารือว่าจะมีการขยายสัญญาว่าจ้างของนายมาร์ติน วินเทอร์คอร์น ซีอีโอของโฟล์คสวาเกน ไปจนถึงสิ้นปี 2018 หรือไม่ ขณะที่นักวิเคราะห์หลายรายเรียกร้องให้นายวินเทอร์คอร์นลาออกจากตำแหน่งเพื่อรับผิดชอบต่อเรื่องที่เกิดขึ้น
เมื่อวันอาทิตย์ นายวินเทอร์คอร์นออกแถลงการณ์ขออภัยต่อเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น และประกาศว่าจะให้มีหน่วยงานจากภายนอกบริษัทเข้าตรวจสอบเรื่องดังกล่าว