นายคาร์สเทน เซสกี หัวหน้านักวิเคราะห์ของบริษัทไอเอ็นจี กล่าวว่า วิกฤตการณ์ผู้อพยพในยุโรป และข่าวอื้อฉาวของโฟล์คสวาเกน จะสร้างความเสี่ยงครั้งใหม่ต่อเศรษฐกิจเยอรมนี
นายเซสกียอมรับว่า แม้ว่าขณะนี้ยังไม่ชัดเจนว่าผลกระทบจากวิกฤตการณ์โฟล์คสวาเกนจะรุนแรงเพียงใด แต่ปัจจัยดังกล่าวจะส่งผลกระทบไม่น้อย เนื่องจากโฟล์คสวาเกนเป็นบริษัทที่มีขนาดใหญ่ และมีการจ้างงานจำนวนมาก และที่ผ่านมา ทางบริษัทมีส่วนช่วยผลักดันเศรษฐกิจเยอรมนี
ทางด้านนางเจนนิเฟอร์ แมคคีโอนจากแคปิตอล อีโคโนมิคส์ ระบุว่า ข่าวอื้อฉาวของโฟล์คสวาเกนจะสร้างความเสี่ยงครั้งใหม่ต่อเศรษฐกิจเยอรมนี ควบคู่ไปกับการชะลอตัวของเศรษฐกิจจีน
ทั้งนี้ อุตสาหกรรมรถยนต์นับเป็นเส้นเลือดใหญ่ที่หล่อเลี้ยงเศรษฐกิจเยอรมนี ขณะที่ช่วยสร้างงานจำนวนมากในประเทศ
นางอังเกลา แมร์เคิล นายกรัฐมนตรีเยอรมนี เรียกร้องให้บริษัทโฟล์คสวาเกน แสดงความโปร่งใสในการรีบออกมาชี้แจงต่อข่าวอื้อฉาวดังกล่าว
"เมื่อพิจารณาจากสถานการณ์ที่ยากลำบากในขณะนี้ สิ่งที่บริษัทจำเป็นต้องทำคือการแสดงความโปร่งใส และชี้แจงเรื่องราวที่เกิดขึ้นทั้งหมด" นางแมร์เคิลกล่าว หลังผู้สื่อข่าวถามว่ามีความวิตกหรือไม่ว่าข่าวอื้อฉาวดังกล่าวจะส่งผลกระทบต่ออุตสาหกรรมรถยนต์ของเยอรมนี
ความเห็นของผู้นำเยอรมนีดังกล่าวถือเป็นครั้งแรกนับตั้งแต่ที่สหรัฐระบุว่าโฟล์คสวาเกนจงใจติดตั้งซอฟท์แวร์ในรถยนต์ดีเซลเกือบ 5 แสนคันเพื่อทำให้ดูเหมือนว่ามีการปล่อยไอเสียน้อยกว่าความเป็นจริง
หากพบว่าบริษัทมีความผิดจริง ก็จะถูกทางการสหรัฐปรับเป็นเงินจำนวน 37,500 ดอลลาร์ต่อคัน ซึ่งจะรวมกันมากกว่า 1.8 หมื่นล้านดอลลาร์ หรือเกือบ 650,000 ล้านบาท
โฟล์คสวาเกนได้ยอมรับว่าได้ทำการติดตั้งโปรแกรมดังกล่าวในรถยนต์ของบริษัทจำนวน 11 ล้านคันทั่วโลก ซึ่งจะทำให้มีปัญหาเกี่ยวกับการแจ้งผลปล่อยมลพิษไม่ถูกต้อง
โปรแกรมที่ทางบริษัทติดตั้งในรถยนต์ดีเซลจะทำให้เครื่องยนต์เข้าสู่โหมดพลังงานสะอาด หากกำลังถูกเจ้าหน้าที่ทำการตรวจจับมลพิษ และหากผ่านพ้นช่วงดังกล่าว โปรแกรมก็จะทำให้รถยนต์กลับมาอยู่ในโหมดขับขี่ปกติ ซึ่งจะทำให้มีการปล่อยมลพิษมากกว่าเกณฑ์มาตรฐานตามกฎหมายถึง 40 เท่า