อย่างไรก็ดี ข้อตกลงดังกล่าวยังคงต้องผ่านการอนุมัติจากสภาคองเกรส โดยสภาผู้แทนราษฎรอาจลงมติในวันพรุ่งนี้ ก่อนที่จะส่งต่อไปยังวุฒิสภา
ข้อตกลงนี้จะช่วยขจัดความเสี่ยงที่รัฐบาลสหรัฐอาจผิดนัดชำระหนี้ และลดความเป็นไปได้ที่จะมีการปิดหน่วยงานรัฐบาลในเดือนธ.ค.
นอกจากนี้ ข้อตกลงในครั้งนี้จะเป็นการระงับการจำกัดเพดานหนี้ของรัฐบาลสหรัฐไปจนถึงกลางเดือนมี.ค.2017 และเพิ่มงบรายจ่ายอีก 8 หมื่นล้านดอลลาร์ไปจนถึงเดือนก.ย.2017
นายแจ็ค ลูว์ รมว.คลังสหรัฐ กล่าวเตือนก่อนหน้านี้ว่า เขารู้สึกกังวลต่อความขัดแย้งระหว่างรัฐบาลและสภาคองเกรสเกี่ยวกับการเพิ่มเพดานหนี้ ซึ่งอาจจะทำให้เกิดอุบัติเหตุขึ้นได้ ขณะที่สหรัฐกำลังเข้าใกล้ภาวะผิดนัดชำระหนี้
เขากล่าวว่า ความเสี่ยงต่อสถานการณ์ที่ยังมองไม่เห็นได้เพิ่มขึ้น หากคองเกรสไม่ได้ดำเนินการให้ทันเวลา
ทั้งนี้ มาตรการบริหารเงินฉุกเฉินของรัฐบาลสหรัฐจะหมดอายุลงในวันที่ 3 พ.ย. ซึ่งจะทำให้รัฐบาลเสี่ยงที่จะขาดแคลนงบประมาณในการบริหารประเทศ หากสภาคองเกรสไม่อนุมัติการเพิ่มเพดานการก่อหนี้ของรัฐบาลจากระดับ 18.1 ล้านล้านดอลลาร์ในปัจจุบัน
นายลูว์ระบุในจดหมายถึงสภาคองเกรสว่า หลังจากวันที่ 3 พ.ย. กระทรวงการคลังจะมีเงินสดในการใช้หนี้ และใช้จ่ายด้านอื่นๆเพียง 3 หมื่นล้านดอลลาร์ ซึ่งวงเงินดังกล่าวจะหมดลงอย่างรวดเร็ว
ทางด้านสำนักงบประมาณของสภาคองเกรส (CBO) ประเมินว่าในช่วงครึ่งแรกของเดือนพ.ย.นี้กระทรวงการคลังสหรัฐจะขาดแคลนเงินสด หากไม่มีการปรับเพิ่มเพดานการกู้ยืมของรัฐบาล
ก่อนหน้านี้ CBO คาดว่าเงินสดของกระทรวงการคลังจะหมดลงในช่วงกลางเดือนพ.ย.-ต้นเดือนธ.ค.
CBO เปิดเผยว่า หากไม่มีการเพิ่มเพดานหนี้ กระทรวงจะมีเงินสดในระดับต่ำมากในช่วงต้นเดือนพ.ย. และจะหมดลงหลังจากนั้นไม่นาน ซึ่งจะส่งผลให้การเบิกจ่ายเงินสำหรับกิจกรรมต่างๆของรัฐบาลเกิดความล่าช้า และรัฐบาลจะเผชิญกับภาวะผิดนัดชำระหนี้