รายงานที่มีชื่อว่า Shock Waves: Managing the Impacts of Climate Change on Poverty ระบุว่า ประชาชนที่ยากจนต่างเผชิญความเสี่ยงสูงอยู่แล้วจากปัญหาที่เกี่ยวกับสภาพอากาศ ซึ่งรวมถึง การไม่สามารถทำการเพาะปลูกเนื่องจากปริมาณน้ำฝนลดลง ราคาอาหารที่พุ่งทะยานขึ้นหลังปรากฎการณ์ด้านสภาพอากาศที่เลวร้าย และโรคระบาดที่เพิ่มขึ้นหลังเกิดคลื่นความร้อนและอุทกภัย
ผลกระทบดังกล่าวอาจบั่นทอนรายได้ของประชาชน และนำไปสู่ความสูญเสียที่ไม่อาจชดเชยได้ ซึ่งทำให้ประชาชนกลับไปสู่ภาวะยากจนอีกครั้ง โดยเฉพาะในแอฟริกาและในเอเชีย
รายงานยังชี้ว่า การเกษตรจะเป็นสาเหตุหลักที่ส่งผลให้เกิดความยากจนเพิ่มขึ้น เนื่องจากกรณีศึกษาระบุว่า การเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศอาจส่งผลให้ผลผลิตจากการเพาะปลูกทั่วโลกลดลง 5% ภายในปี 2573 และร่วงลง 30% ภายในปี 2623
ส่วนผลกระทบด้านสุขภาพ ได้แก่ กรณีการเกิดโรคมาลาเรีย อาการท้องร่วง และภาวะร่างกายแคระแกร็น ได้เพิ่มมากขึ้น ซึ่งรวมถึงผลกระทบต่อความสามารถในการผลิตของแรงงาน อันเนื่องมาจากอุณหภูมิที่สูง
ในแอฟริกา ซึ่งเป็นภูมิภาคที่ประชากรยากจนที่สุดในโลก การเปลี่ยนแปลงด้านสภาพอากาศอาจส่งผลให้ราคาอาหารปรับตัวขึ้นถึง 12% ภายในปี 2573 และพุ่งแตะ 70% ภายในปี 2623
รายงานระบุว่าปัญหาดังกล่าวส่งผลกระทบที่รุนแรงต่อกลุ่มประเทศแอฟริกา ซึ่งปริมาณการบริโภคอาหารของภาคครัวเรือนที่ยากจนที่สุดคิดเป็นสัดส่วนสูงกว่า 60% ของการใช้จ่ายทั้งหมด
รายงานดังกล่าวได้รับการเปิดเผยก่อนการประชุมว่าด้วยสภาพอากาศของสหประชาชาติ (UN) ในกรุงปารีส โดยเรียกร้องให้มีการดำเนินความพยายามด้านการพัฒนา ซึ่งจะฟื้นฟูชีวิตของประชากรที่ยากจน เช่น การยกระดับสวัสดิการสังคมและความคุ้มครองด้านสุขภาพ พร้อมด้วยมาตรการเฉพาะด้านสภาพอากาศ เพื่อช่วยรับมือการเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศ ได้แก่ การปรับปรุงการป้องกันอุทกภัย ระบบเตือนภัยที่รวดเร็ว และพืชผลที่ทนต่อสภาพอากาศ สำนักข่าวซินหัวรายงาน