การประกาศดังกล่าวมีขึ้นหลังจากที่ WHO ได้เปิดการประชุมผู้เชี่ยวชาญเพื่อหารือในเรื่องของไวรัสซิกา และความเกี่ยวข้องกับการที่ทารกในบราซิลเกิดมามีศีรษะเล็กผิดปกติ หรือภาวะศีรษะเล็กเกินไป เช่นเดียวกับโรคอื่นๆทางระบบประสาท
ปัจจุบันยังไม่มีวัคซีนหรือวิธีรักษาโรคไข้ซิกาโดยเฉพาะ ไวรัสดังกล่าวมียุงเป็นพาหะ ซึ่งทำให้ผู้ป่วยรู้สึกปวดหัว มีไข้เล็กน้อย และรู้สึกปวดข้อ หลังเชื้อไวรัสฟักตัวเป็นเวลา 3-12 วัน
WHO เปิดเผยว่า นับตั้งแต่ที่พบผู้ป่วยโรคไข้ซิการายแรกในบราซิลเมื่อเดือนพ.ค. 2558 ก็ได้พบการแพร่กระจายไปยังประเทศอื่นๆในภูมิภาคอเมริกา นอกจากนี้ยังพบการแพร่ระบาดที่ประเทศเฟรนช์โปลินีเซียเมื่อปี 2556 ด้วยเช่นกัน
ความสัมพันธ์ระหว่างโรคไข้ซิกากับภาวะศีรษะเล็กเกินยังไม่ได้รับการพิสูจน์ในทางวิทยาศาสตร์ แต่ก็ได้มีการตั้งข้อสังเกตในวงกว้าง
มาร์กาเร็ต ชาน อธิบดีองค์การอนามัยโลก กล่าวว่า "แนวโน้มดังกล่าวซึ่งเพิ่งถูกตั้งข้อสงสัยนั้นส่งผลให้ไวรัสซิกาที่แต่เดิมเป็นภัยคุกคามปานกลาง กลายเป็นภัยคุกคามที่ควรเฝ้าระวัง"
ทั้งนี้ WHO ได้ประกาศภัยฉุกเฉินเมื่อปี 2557 ต่อการแพร่ระบาดของไวรัสอีโบลาในแอฟริกาตะวันตก เช่นเดียวกับวิกฤติไข้หวัดหมูเมื่อปี 2552 และโรคโปลิโอที่กลับมาอีกครั้งเมื่อปี 2557 สำนักข่าวเกียวโดรายงาน