รองโฆษกยูเอ็นคาด "ความตกลงปารีส" มีประเทศร่วมลงนามมากสุดเป็นประวัติการณ์

ข่าวต่างประเทศ Friday April 8, 2016 11:50 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายฟาร์ฮัน ฮาค รองโฆษกสหประชาชาติคาดว่า การลงนามในความตกลงปารีสในวันที่ 22 เมษายนนี้ จะเป็นการลงนามเกี่ยวกับการลดภาวะโลกร้อนที่มีประเทศเข้าร่วมลงนามมากที่สุด

นายฟาร์ฮานระบุว่า ประเทศกว่า 130 ประเทศตกลงที่จะร่วมลงนามในความตกลงฉบับนี้ภายหลังจากที่ที่ประชุมสมัชชารัฐภาคีฯ มีมติรับรองเมื่อเดือนธันวาคมที่ผ่านมา

"เราคาดว่าจำนวนประเทศที่เข้าร่วมพิธีลงนามในความตกลงฉบับนี้จะมากกว่าจำนวนประเทศที่เข้าร่วมพิธีลงนามในความตกลงระหว่างประเทศว่าด้วยกฎหมายทะเลจำนวน 119 ประเทศที่จัดขึ้นในอ่าวมอนเทโก ประเทศจาไมกาเมื่อปี 2537" นายฟาร์ฮานกล่าว

พิธีลงนามความตกลงฉบับนี้จัดขึ้นที่สำนักงานใหญ่สหประชาชาติ โดยเลขาธิการสหประชาชาตินายบัน คี มุน และมีผู้นำรัฐบาลที่สำคัญๆกว่า 60 คนเข้าร่วมพิธีครั้งนี้ซึ่งแสดงให้เห็นถึงความตื่นตัวและการมีส่วนร่วมของผู้นำระดับโลกในการแก้ปัญหาสภาวะโลกร้อนผ่านการบังคับใช้ความตกลงปารีส

"การเข้าร่วมพิธีลงนามความตกลงปารีสเป็นก้าวแรกที่ยืนยันว่า ความตกลงฉบับนี้สามารถมีผลบังคับใช้ในเวลาอันใกล้นี้" นายฟาร์ฮานกล่าว

ความตกลงปารีสจะมีผลบังคับใช้ภายหลังจาก 30 วันที่ประเทศจำนวนอย่างน้อย 55 ประเทศที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกมากกว่า 55% ขึ้นสู่ชั้นบรรยากาศโลกได้มอบสัตยาบันสารไว้กับเลขาธิการสหประชาชาติ

ความตกลงปารีสได้รับการอนุมัติจาก 196 ประเทศสมาชิกในอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (UNFCC) มีเป้าหมายหลักเพื่อควบคุมการเพิ่มขึ้นของอุณหภูมิโลกโดยเฉลี่ยให้ต่ำกว่า 2 องศาเซลเซียส ซึ่งเป็นระดับก่อนการปฏิวัติอุตสาหกรรม และพยายามจำกัดการเพิ่มขึ้นของอุณหภูมิโลกโดยเฉลี่ยให้ต่ำกว่า 1.5 องศาเซลเซียส

นอกจากนี้ประเทศที่พัฒนาแล้วยังได้ตกลงที่จะระดมเงินทุนให้ได้ 1 แสนล้านดอลลาร์ภายในปี 2563 เพื่อช่วยเหลือประเทศที่กำลังพัฒนาในการเปลี่ยนโฉมเศรษฐกิจตามหลักการของ UNFCC ที่ส่งเสริมการรับผิดชอบร่วมกันในระดับที่แตกต่างกันตามความสามารถ


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ