รายงานจากมหาวิทยาลัยออกซ์ฟอร์ดระบุว่า 51% ของผู้ใช้งานอินเทอร์เน็ตในกว่า 26 ประเทศทั่วโลก เลือกใช้โซเชียลมีเดียเป็นช่องทางในการรับข่าวสารในแต่ละสัปดาห์
รายงานดิจิทัล นิวส์ รีพอร์ท ซึ่งจัดทำโดยสถาบันรอยเตอร์สำหรับการศึกษาทางวารสารศาสตร์ (Reuters Institute for the Study of Journalism) แห่งมหาวิทยาลัยออกซ์ฟอร์ด เปิดเผยว่า ปัจจัย 3 ประการที่ส่งผลกระทบต่อโมเดลธุรกิจที่มุ่งเน้นการให้บริการข่าวที่มีคุณภาพ คือ การเกิดขึ้นของแพลตฟอร์มโซเชียล การใช้งานอุปกรณ์เคลื่อนที่ที่สูงขึ้น และการที่ผู้บริโภคในปัจจุบันเริ่มปฏิเสธโฆษณาออนไลน์กันมากขึ้น
รายงานฉบับนี้จัดทำโดย YouGov และมีผู้บริโภคข่าวออนไลน์เข้าร่วมตอบแบบสอบถามทั้งสิ้น 50,000 คน จาก 26 ประเทศ อาทิ สหรัฐ อังกฤษ เยอรมนี ฝรั่งเศส เกาหลีใต้ ญี่ปุ่น และบราซิล โดยได้ทำการวิจัยในช่วงเดือนมกราคมถึงเดือนกุมภาพันธ์ 2559
ทั้งนี้ ผู้ตอบแบบสอบถามราว 12% ระบุว่า โซเชียลมีเดียคือแหล่งข่าวสารหลักของตนเอง โดยผู้ตอบแบบสอบถามที่มีอายุระหว่าง 18-24 ปี ใช้โซเชียลมีเดียในการอ่านข่าวสูงถึง 28% ทั้งนี้ ผลการสำรวจชี้ให้เห็นว่า เฟซบุ๊กมีบทบาทในการกระจายข่าวออนไลน์สูงขึ้นเรื่อยๆ เนื่องจากมีผู้ตอบแบบสอบถาม 44% เลือกใช้สื่อชนิดนี้ในการหา อ่าน ดู แชร์ และแสดงความคิดเห็นต่อข่าวในแต่ละสัปดาห์
ราสมุส คลีส นีลเซน ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยของสถาบันรอยเตอร์ให้ความเห็นว่า ปัจจุบันผู้คนเข้าถึงข้อมูลข่าวด้วยแพลตฟอร์มเหล่านี้มากขึ้น "จึงเป็นเรื่องยากสำหรับบรรดาสำนักพิมพ์ ทั้งในแง่การนำเสนอข่าวให้มีความโดดเด่นและติดต่อกับผู้อ่านได้โดยตรง ส่งผลให้การทำรายได้นั้นเป็นเรื่องยาก"
ในขณะเดียว ผู้ตอบแบบสอบถามมากกว่า 53% เผยว่า พวกเขาใช้สมาร์ทโฟนเป็นอุปกรณ์หลักในการเข้าถึงข้อมูลข่าว
นอกจากนี้ ผู้ตอบแบบสอบถามชาวอังกฤษ 16% และชาวสหรัฐอีก 17% ระบุว่า พวกเขาเลือกอ่านข่าวจากสมาร์ทโฟนในตอนเช้ามากกว่ารับข่าวสารทางโทรทัศน์ วิทยุ หรือหนังสือพิมพ์ โดยชาวสหรัฐกว่าครึ่ง และชาวอังกฤษอีก 1 ใน 3 ของผู้ตอบแบบสอบถามกลุ่มนี้เผยว่า พวกเขาเลือกอ่านข่าวจากโซเชียลมีเดีย มากกว่าเข้าแอปพลิชันหรือเว็บไซต์ที่ให้บริการข่าว
นิค นิวแมน ผู้เขียนรายงานหลักให้ความเห็นว่า อัตราการใช้งานสมาร์ทโฟนนั้นเพิ่มสูงขึ้นไปพร้อมๆกับการเผยแพร่ข่าวที่มากขึ้น และผู้ใช้งานโทรศัพท์มือถือในปัจจุบัน "หันมาเสพข่าวสารผ่านหน้าฟีดของโซเชียลมีเดียและการแจ้งเตือนมากขึ้นอีกด้วย"