กลุ่มชาวอินโดนีเซียผู้เพาะเลี้ยงสาหร่ายทะเลได้รวมตัวกันยื่นฟ้องต่อศาลเพื่อเรียกร้องค่าเสียหายจากบริษัท PTTEP Australasia ซึ่งเป็นบริษัทขุดเจาะน้ำมันของออสเตรเลียที่อยู่ในเครือของปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม (PTTEP) โดยระบุว่าเหตุการณ์น้ำมันรั่วไหลในบริเวณทะเลติมอร์ของอินโดนีเซีย ได้ส่งผลกระทบต่ออุตสาหกรรมการเพาะเลี้ยงสาหร่ายทะเล
ทั้งนี้ นายมอริส แบล็คเบิร์น ทนายความชาวออสเตรเลีย ซึ่งเป็นตัวแทนของผู้เพาะเลี้ยงสาหร่ายทะเลของอินโดนีเซียจำนวนกว่า 13,000 ราย ได้ยื่นฟ้องต่อศาลที่นครซิดนีย์เพื่อเรียกร้องค่าเสียหายจากบริษัท PTTEP Australasia จำนวน 200 ล้านดอลลาร์ออสเตรเลีย (151.94 ล้านดอลลาร์สหรัฐ) หรือราว 5,400 ล้านบาท เพื่อให้บริษัทแสดงความรับผิดชอบต่อเหตุการณ์ที่แท่นขุดเจาะน้ำมันของบริษัท PTTEP Australasia ซึ่งตั้งอยู่นอกชายฝั่งทางเหนือของออสเตรเลียได้เกิดระเบิดขึ้นเมื่อเดือนส.ค.2552 จนส่งผลให้น้ำมันรั่วไหลออกมา
"พวกเขาสามารถเก็บเกี่ยวสาหร่ายทะเลได้เป็นจำนวนมากในปี 2551 แต่เมื่อถึงปลายปี 2552 พวกเขาก็ไม่สามารถเก็บเกี่ยวอะไรได้ โดยสาหร่ายทะเลต่างก็ตายลง" นายแบล็คเบิร์นกล่าว
เหตุการณ์ดังกล่าวทำให้มีการรั่วไหลของน้ำมันจำนวน 300,000 ลิตรต่อวันลงสู่น่านน้ำออสเตรเลีย และต้องใช้เวลา 10 สัปดาห์กว่าที่จะสามารถหยุดการรั่วไหล ส่งผลให้เป็นเหตุการณ์ภัยพิบัติด้านการขุดเจาะน้ำมันที่เลวร้ายที่สุดของออสเตรเลีย
ทั้งนี้ อินโดนีเซียเป็นผู้นำของโลกในอุตสาหกรรมสาหร่ายทะเล ซึ่งมีการใช้ในผลิตภัณฑ์เกี่ยวกับอาหาร เครื่องสำอาง และเวชภัณฑ์