องค์การอนามัยโลก (WHO) ได้ประกาศการสิ้นสุดภาวะการแพร่ระบาดของไวรัสซิกา หลังจากที่ได้ออกแถลงการณ์เตือนเรื่องการแพร่ระบาดของไวรัสชนิดนี้เมื่อ 9 เดือนที่ผ่านมา
"แม้ไวรัสซิกาและผลพวงที่เกิดจากการติดเชื้อไวรัสซิกายังคงเป็นปัญหาด้านสาธารณสุขอย่างมีนัยสำคัญ แต่ขณะนี้ไวรัสซิกาไม่ถือเป็นภาวะฉุกเฉินด้านสาธารณสุขอีกต่อไป" WHO กล่าวในแถลงการณ์
ทั้งนี้ นับตั้งแต่มีการพบกรณีการติดเชื้อไวรัสซิกาครั้งแรกในประเทศบราซิลเมื่อเดือนพ.ค. 2558 ไวรัสชนิดนี้ก็ได้แพร่ระบาดไปยังประเทศต่างๆในทวีปอเมริกา และต่อมาได้ขยายการแพร่ระบาดออกไปในกลุ่มประเทศเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยไวรัสซิกามีส่วนทำให้เกิดความผิดปกติในทารก ได้แก่ การมีศีรษะที่เล็กกว่าปกติและความพิการทางสมอง
สำหรับการแพร่ระบาดนั้น ไวรัสซิกามียุงลายบ้านที่มีชื่อทางวิทยาศาสตร์ว่า Aedes aegypti เป็นพาหะ ซึ่งยุงชนิดนี้สามารถพบได้ทั่วไปในทวีปอเมริกา โดยยุงจะกินเลือดของคนที่ติดเชื้อ และเมื่อยุงไปกัดคนอื่นก็จะปล่อยเชื้อให้แก่คนคนนั้นต่อไป ซึ่งคล้ายคลึงกับการแพร่ระบาดของไวรัสไข้เลือดออก
ส่วนอาการโดยทั่วไปของผู้ที่ติดเชื้อไวรัสซิกานั้น จะรวมถึงอาการปวดศีรษะ มีไข้ต่ำๆ เยื่อตาอักเสบ ตาแดง ปวดตามข้อและมีผื่นแดงตามผิวหนัง โดยผู้ที่ติดเชื้อส่วนใหญ่มักไม่แสดงอาการ