รัฐมนตรีความปลอดภัยทางไซเบอร์ของออสเตรเลียยืนยันว่า บริษัทออสเตรเลียบางแห่งได้รับผลกระทบจาก มัลแวร์เรียกค่าไถ่ หรือ "แรนซัมแวร์" ซึ่งได้โจมตีระบบคอมพิวเตอร์กว่า 200,000 เครื่องใน 150 ประเทศทั่วโลก
สำนักข่าวซินหัวรายงานว่า นายแดน เตฮาน รัฐมนตรีความปลอดภัยทางไซเบอร์ของออสเตรเลีย เปิดเผยว่า บริษัทออสเตรเลียอย่างน้อยหนึ่งแห่งถูกโจมตีจากมัลแวร์ดังกล่าว ซึ่งได้เข้าไปล็อคการทำงานในระบบต่างๆของคอมพิวเตอร์ ทำให้ไม่สามารถเปิดใช้งานได้ จนกว่าผู้ใช้งานจะจ่ายเงินค่าไถ่ให้กับผู้โจมตีเพื่อทำการปลดล็อค อย่างไรก็ดี นายเตฮานกล่าวกับสำนักข่าวสกายนิวส์ว่า บริษัทที่ถูกโจมตีอาจมีจำนวนเพิ่มขึ้น และกล่าวว่ารัฐบาลกำลังติดต่อกับบริษัทที่คาดว่าจะได้รับผลกระทบจากการโจมตีในครั้งนี้
นายเตฮาน กล่าวว่า องค์กรด้านความปลอดภัยทางไซเบอร์ของออสเตรเลียจะทำงานร่วมกับบริษัทในประเทศที่ได้รับผลกระทบจากการโจมตีครั้งนี้ และเสริมว่ารัฐบาลจะหาคำตอบว่าทำไมมัลแวร์ดังกล่าวจึงแพร่จายไปทั่วโลกได้อย่างง่ายดาย
เขากล่าวว่า "มีบริษัทออสเตรเลียที่ถูกโจมตีจากแรนซัมแวร์แล้วหนึ่งแห่ง และอาจจะมีอีกสองแห่งที่คาดว่าจะถูกโจมตีเช่นกัน โดยเรากำลังพยายามยืนยันเรื่องดังกล่าว" อย่างไรก็ตาม นายเตฮานยืนยันว่า การให้บริการที่สำคัญของประเทศไม่ได้รับผลกระทบจากไวรัสเรียกค่าไถ่ หลังจากที่มีรายงานว่า พบการโจมตีระบบคอมพิวเตอร์ขององค์กรสุขภาพและโรงพยาบาลในประเทศอังกฤษ และกล่าวว่าเจ้าของกิจการควรตรวจสอบให้มั่นใจว่ามีการอัพเดตระบบคอมพิวเตอร์ทั้งหมดภายในบริษัท เพื่อป้องกันการโจมตีที่อาจจะเกิดขึ้นได้ในอนาคต"
ทั้งนี้ มัลแวร์เรียกค่าไถ่ที่มีชื่อว่า WannaCry ได้แพร่ระบาดอย่างรวดเร็วตั้งแต่วันศุกร์ที่ผ่านมา โดยขณะนี้มีคอมพิวเตอร์ที่ถูกโจมตีด้วยหนอนคอมพิวเตอร์ดังกล่าวแล้วกว่า 200,000 เครื่องใน 150 ประเทศ มัลแวร์ดังกล่าวจะเข้าไปล็อกไฟล์เอกสารต่างๆในคอมพิวเตอร์ ทำให้ไม่สามารถเปิดใช้งานได้ จนกว่าผู้ใช้งานจะจ่ายเงินค่าไถ่เพื่อปลดล็อกไฟล์เอกสาร