นักเศรษฐศาสตร์ได้ออกมาแสดงความเห็นที่แตกต่างกันถึงผลที่จะเกิดขึ้นจากร่างกฎหมายปฏิรูปภาษีของพรรครีพับลิกัน โดยสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจากพรรครีพับลิกันได้เปิดเผยร่างกฎหมายปฏิรูปภาษีฉบับใหม่เมื่อสัปดาห์แล้ว ซึ่งครอบคลุมถึงการปรับลดภาษีเงินได้นิติบุคคล และลดจำนวนขั้นบันไดของการคำนวณภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา
มาร์ติน เฟลด์สไตน์ ศาสตราจารย์ด้านเศรษฐศาสตร์จากมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด และอดีตประธานที่ปรึกษาด้านเศรษฐกิจของอดีตประธานาธิบดีโรนัลด์ เรแกน ได้กล่าวชื่นชมร่างกฎหมายฉบับดังกล่าวว่า จะช่วยปรับลดภาษีเงินได้นิติบุคคลลงสู่ระดับ 20% จากปัจจุบันที่ระดับ 35%
เฟลด์สไตน์กล่าวในบทบรรณาธิการของหนังสือพิมพ์เดอะวอลล์สตรีท เจอร์นัล ว่า "สิ่งจำเป็นสำหรับระบบเศรษฐกิจก็คือการปฏิรูปภาษี ซึ่งจะกระตุ้นให้บริษัทต่างๆเพิ่มการใช้จ่ายเงินทุน จนนำไปสู่การขยายขีดความสามารถและค่าจ้างที่แท้จริง
เขาเสริมว่า "แม้ก้าวที่ยิ่งใหญ่เหล่านี้จะเริ่มมาจากสิ่งเล็กๆ แต่มันก็จะเติบโตขึ้นทุกๆปี เนื่องจากเงินทุนจะไหลเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจสหรัฐ ผ่านการลงทุน"
นอกจากนี้ เฟลด์สไตน์ยังกล่าวถึงการขาดดุลงบประมาณที่อาจจะเกิดขึ้นจากการปรับลดภาษีในครั้งนี้ว่า "การปฏิรูปภาษีจะช่วยหนุนการเติบโตของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (จีดีพี) ในอนาคต ซึ่งจะช่วยชดเชยผลกระทบที่จะเกิดจากหนี้สินของประเทศ ที่อาจจะเพิ่มถึง1.5 ล้านล้านดอลลาร์"
สำนักข่าวซินหัวรายงานว่า เมื่อวันที่ 3 พ.ย.ที่ผ่านมา สมาชิกพรรครีพับลิกันในสภาผู้แทนราษฎรสหรัฐได้เปิดเผยรายละเอียดของร่างกฎหมายปฏิรูปภาษี ซึ่งครอบคลุมถึงการปรับลดภาษีเงินได้นิติบุคคลลงสู่ระดับ 20% จากปัจจุบันที่ระดับ 35% และจัดเก็บภาษี 10% สำหรับสาขาในต่างประเทศที่ทำกำไรได้มาก เพื่อสกัดพฤติกรรมการโอนกำไรไปยังต่างประเทศ
ส่วนภาษีเงินได้บุคคลธรรมนั้น จะมีการลดจำนวนขั้นบันไดของการคำนวณภาษี จาก 7 ขั้น เหลือเพียง 4 ขั้น คือ 12%, 25%, 35% และ 39.6% ทางด้านนายลอว์เรนซ์ ซัมเมอร์ส ศาสตราจารย์ด้านเศรษฐศาสตร์ของฮาร์วาร์ด และอดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังในสมัยประธานาธิบดีบิล คลินตัน กลับวิพากษ์วิจารณ์ร่างกฎหมายปฏิรูปภาษีฉบับใหม่นี้ ในบทบรรณาธิการของหนังสือพิมพ์ไฟแนลเซียล ไทมส์
นายซัมเมอร์สกล่าวว่า "ข้อเสนอจากรีพับลิกันในสภาผู้แทนราษฎรฉบับนี้ อาจทำให้เศรษฐกิจขยายตัวช้าลง อีกทั้งยังเป็นการเอื้อประโยชน์ให้กับคนรวย เพิ่มความซับซ้อนในด้านภาษีและการคดโกงในอนาคต รวมถึงจะมาเพิ่มภาระให้กับชนชั้นกลางและคนจน"
นายซัมเมอร์สยังกล่าวด้วยว่า "การปรับลดภาษีเงินได้นิติบุคคลลงนั้น ให้แต่เพียงผลประโยชน์ผูกขาดหรือกับการลงทุนที่ผ่านมาในอดีตเท่านั้น แต่หลังจากผ่านช่วงนี้ไปอีกไม่กี่ปี ผู้ถือหุ้นจะยังคงได้ประโยชน์ที่คุ้มค่าต่อไปอีกหรือไม่" นอกจากนี้ เขากล่าวว่า สภาคองเกรสน่าจะกลับไปใช้การปฏิรูปภาษีวิธีการเดียวกับเมื่อปี 2529
ทั้งนี้ ร่างกฎหมายปฏิรูปภาษีฉบับใหม่ของคณะทำงานประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์กำลังอยู่ระหว่างการพิจารณาของคณะกรรมาธิการพิจารณาวิธีการจัดหารายได้ของสภาผู้แทนราษฎร (Committee on Ways and Means) ขณะที่นายพอล ไรอัน ประธานสภาผู้แทนราษฎรสหรัฐ คาดการณ์ว่า สภาผู้แทนราษฎรโหวตร่างกฎหมายดังกล่าว ก่อนช่วงเทศกาลวันขอบคุณพระเจ้า ในวันที่ 23 พ.ย.นี้