สมาชิกรัฐสภาอังกฤษเรียกร้องตรวจสอบการล้มละลายของ"คาริลเลียน"

ข่าวต่างประเทศ Monday January 15, 2018 21:10 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายเบอร์นาร์ด เจนกิน ประธานคณะกรรมาธิการฝ่ายปกครองสาธารณะของสภาสามัญชนของอังกฤษ และเป็นแกนนำของพรรคอนุรักษ์นิยมของอังกฤษ ซึ่งเป็นพรรครัฐบาล เรียกร้องให้มีการตรวจสอบการล้มละลายของบริษัทคาริลเลียน ยักษ์ใหญ่ในธุรกิจก่อสร้างของอังกฤษ

การเรียกร้องของนายเจนกินได้รับการขานรับจากพรรคเสรีประชาธิปไตย และพรรคแรงงาน ซึ่งเป็นพรรคฝ่ายค้าน เช่นกัน

"ผมคิดว่ารัฐบาลทั้งคณะจะต้องถูกสอบสวนกรณีมีส่วนเกี่ยวข้องกับการล้มละลายของคาริลเลียน รวมทั้งข้าราชการเช่นกัน ผมคิดว่ารัฐมนตรีที่เกี่ยวข้องไม่ควรให้บริษัทได้รับสัญญาประมูลโครงการต่างๆ หลังจากมีการทักท้วงจากเจ้าหน้าที่" นายเจนกินกล่าว

"ทุกฝ่ายควรถูกตำหนิทั้งหมด และเราควรเรียนรู้จากสถานการณ์ที่เกิดขึ้น" เขากล่าว

ทางด้านนายบิล เอสเตอร์สัน รัฐมนตรีเงาฝ่ายกิจการธุรกิจและการค้าของพรรคแรงงาน ซึ่งเป็นพรรคฝ่ายค้านของอังกฤษ แสดงความกังวลว่า การล้มละลายของคาริลเลียน จะส่งผลกระทบต่อธุรกิจรายย่อยจำนวนหลายร้อยแห่งที่ต้องพึ่งพาสัญญาการจ้างงานจากคาริลเลียน

"จะมีผลกระทบต่อเนื่องจำนวนมากต่อบริษัทขนาดเล็ก ถ้าหากซัพพลายเออร์ของคาริลเลียนไม่ได้รับการจ่ายเงิน โดยบริษัทเหล่านี้จะล้มละลายเช่นกัน พร้อมกับการตกงานของพนักงานหลายพันคน" นายเอสเตอร์สันกล่าว

ทั้งนี้ คาริลเลียนประกาศล้มละลายในวันนี้ และเข้าสู่กระบวนการขอยกเลิกกิจการและชำระบัญชี เนื่องจากรัฐบาลปฏิเสธที่จะอัดฉีดเงินช่วยเหลือบริษัท ส่งผลให้สถาบันการเงินไม่ต้องการปล่อยเงินกู้ให้แก่บริษัทอีกต่อไป หลังจากที่คาริลเลียนประสบปัญหาทางการเงินอย่างหนัก โดยมีหนี้สินมากถึง 1.5 พันล้านปอนด์

"ในช่วงไม่กี่วันที่ผ่านมา เราไม่สามารถหาเงินทุนมาสนับสนุนแผนธุรกิจของเรา จึงเป็นเรื่องที่น่าเสียใจอย่างยิ่งที่เราต้องทำการตัดสินใจในครั้งนี้" นายฟิลิป กรีน ประธานบริษัทคาริลเลียน กล่าว

"นี่เป็นวันที่น่าเศร้าสำหรับคาริลเลียน สำหรับเพื่อนร่วมงาน ซัพพลายเออร์ และลูกค้าของเรา ซึ่งเราได้ให้การรับใช้มาเป็นเวลาหลายปี" นายกรีนกล่าว

ทั้งนี้ คาริลเลียนเป็นบริษัทเก่าแก่ที่มีอายุยาวนานถึง 200 ปี โดยทำธุรกิจก่อสร้างนับตั้งแต่โรงพยาบาลไปจนถึงทางรถไฟ ขณะที่มีพนักงานทั่วโลก 43,000 คน โดยอยู่ในอังกฤษ 20,000 คน

ผลงานที่สร้างชื่อเสียงในอดีตของบริษัท ได้แก่ การก่อสร้างรอยัล โอเปร่า เฮ้าส์ในกรุงลอนดอน และการสร้างอุโมงค์ลอดคลองสุเอซ

คาริลเลียนประสบปัญหาสภาพคล่องอย่างหนัก หลังจากที่เกิดความล่าช้าในการก่อสร้างโครงการที่มีวงเงินลงทุนสูง และการดำเนินธุรกิจที่อยู่ในช่วงขาลง ส่งผลให้บริษัทออกคำเตือนเกี่ยวกับผลกำไรหลายครั้ง ขณะที่ประสบภาวะขาดทุนในช่วงครึ่งปีแรกของปีงบการเงินมากกว่า 1 พันล้านปอนด์

รัฐบาลอังกฤษปฏิเสธที่จะอัดฉีดเงินช่วยเหลือบริษัท โดยระบุว่ารัฐบาลไม่สามารถนำเงินภาษีอากรของประชาชนมากอบกู้ธุรกิจบริษัทเอกชน แต่ในระหว่างนี้ รัฐบาลจะสนับสนุนเงินทุนที่จำเป็นเพื่อให้การบริการที่เกี่ยวข้องในภาครัฐสามารถดำเนินการต่อไปได้


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ