นายเกวิน วิลเลียมสัน รมว.กลาโหมอังกฤษ กล่าวว่า รัฐบาลอังกฤษจะจัดการประชุมฉุกเฉินของคณะกรรมการ COBRA ในวันนี้ เพื่อหารือเกี่ยวกับการล้มละลายของบริษัทคาริลเลียน ยักษ์ใหญ่ในธุรกิจก่อสร้างของอังกฤษ
ต่อข้อถามของสมาชิกรัฐสภาเกี่ยวกับแผนฉุกเฉินของรัฐบาลสำหรับโครงการก่อสร้างที่พักอาศัยของกองทัพ ซึ่งบริษัทคาริลเลียน และเอมีย์ ชนะประมูลนั้น นายวิลเลียมสันกล่าวว่า "รัฐบาลจะจัดการประชุม COBRA ในวันนี้เพื่อหารือกรณีเร่งด่วนที่เกี่ยวข้องกับเรื่องดังกล่าว"
ทั้งนี้ คณะกรรมการ COBRA ประกอบด้วยเจ้าหน้าที่ระดับสูงฝ่ายความมั่นคงและข่าวกรอง รวมทั้งรัฐมนตรีอาวุโส
ในวันที่ 18 ก.ค.ปีที่แล้ว กระทรวงกลาโหมอังกฤษได้มอบสัญญาการก่อสร้างที่พัก และโรงอาหารวงเงิน 158 ล้านปอนด์ในฐานทัพจำนวน 233 แห่งให้แก่คาริลเลียน และบริษัทร่วมทุน เช่น เอมีย์
นายบิล เอสเตอร์สัน รัฐมนตรีเงาฝ่ายกิจการธุรกิจและการค้าของพรรคแรงงาน ซึ่งเป็นพรรคฝ่ายค้านของอังกฤษ แสดงความกังวลว่า การล้มละลายของคาริลเลียน จะส่งผลกระทบต่อธุรกิจรายย่อยจำนวนหลายร้อยแห่งที่ต้องพึ่งพาสัญญาการจ้างงานจากคาริลเลียน
"จะมีผลกระทบต่อเนื่องจำนวนมากต่อบริษัทขนาดเล็ก ถ้าหากซัพพลายเออร์ของคาริลเลียนไม่ได้รับการจ่ายเงิน โดยบริษัทเหล่านี้จะล้มละลายเช่นกัน พร้อมกับการตกงานของพนักงานหลายพันคน" นายเอสเตอร์สันกล่าว
ทั้งนี้ คาริลเลียนประกาศล้มละลายในวันนี้ และเข้าสู่กระบวนการขอยกเลิกกิจการและชำระบัญชี เนื่องจากรัฐบาลปฏิเสธที่จะอัดฉีดเงินช่วยเหลือบริษัท ส่งผลให้สถาบันการเงินไม่ต้องการปล่อยเงินกู้ให้แก่บริษัทอีกต่อไป หลังจากที่คาริลเลียนประสบปัญหาทางการเงินอย่างหนัก โดยมีหนี้สินมากถึง 1.5 พันล้านปอนด์
"ในช่วงไม่กี่วันที่ผ่านมา เราไม่สามารถหาเงินทุนมาสนับสนุนแผนธุรกิจของเรา จึงเป็นเรื่องที่น่าเสียใจอย่างยิ่งที่เราต้องทำการตัดสินใจในครั้งนี้" นายฟิลิป กรีน ประธานบริษัทคาริลเลียน กล่าว
"นี่เป็นวันที่น่าเศร้าสำหรับคาริลเลียน สำหรับเพื่อนร่วมงาน ซัพพลายเออร์ และลูกค้าของเรา ซึ่งเราได้ให้การรับใช้มาเป็นเวลาหลายปี" นายกรีนกล่าว
ทั้งนี้ คาริลเลียนเป็นบริษัทเก่าแก่ที่มีอายุยาวนานถึง 200 ปี โดยทำธุรกิจก่อสร้างนับตั้งแต่โรงพยาบาลไปจนถึงทางรถไฟ ขณะที่มีพนักงานทั่วโลก 43,000 คน โดยอยู่ในอังกฤษ 20,000 คน
ผลงานที่สร้างชื่อเสียงในอดีตของบริษัท ได้แก่ การก่อสร้างรอยัล โอเปร่า เฮ้าส์ในกรุงลอนดอน และการสร้างอุโมงค์ลอดคลองสุเอซ
คาริลเลียนประสบปัญหาสภาพคล่องอย่างหนัก หลังจากที่เกิดความล่าช้าในการก่อสร้างโครงการที่มีวงเงินลงทุนสูง และการดำเนินธุรกิจที่อยู่ในช่วงขาลง ส่งผลให้บริษัทออกคำเตือนเกี่ยวกับผลกำไรหลายครั้ง ขณะที่ประสบภาวะขาดทุนในช่วงครึ่งปีแรกของปีงบการเงินมากกว่า 1 พันล้านปอนด์
รัฐบาลอังกฤษปฏิเสธที่จะอัดฉีดเงินช่วยเหลือบริษัท โดยระบุว่ารัฐบาลไม่สามารถนำเงินภาษีอากรของประชาชนมากอบกู้ธุรกิจบริษัทเอกชน แต่ในระหว่างนี้ รัฐบาลจะสนับสนุนเงินทุนที่จำเป็นเพื่อให้การบริการที่เกี่ยวข้องในภาครัฐสามารถดำเนินการต่อไปได้