ซาอุดิอาระเบีย, คูเวต และสหรัฐอาหรับเอมิเรสต์ประกาศอัดฉีดเงินกู้ 2.5 พันล้านดอลลาร์ ระยะเวลา 5 ปี ให้แก่ธนาคารกลางจอร์แดน ในความพยายามที่จะสร้างเสถียรภาพทางเศรษฐกิจ หลังจากที่ประชาชนได้ลุกฮือขึ้นมาขับไล่รัฐบาล จนทำให้นายกรัฐมนตรีประกาศลาออก
นายฮานิ มัลคิ นายกรัฐมนตรีจอร์แดน ประกาศลาออกในช่วงต้นเดือนนี้ หลังจากที่ประชาชนทั่วประเทศพากันประท้วงขับไล่รัฐบาล เนื่องจากไม่พอใจต่อการประกาศใช้กฎหมายภาษีฉบับใหม่ โดยกลุ่มผู้ประท้วงเรียกร้องให้รัฐบาลยกเลิกกฎหมายภาษีดังกล่าว ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของมาตรการปฏิรูปการคลังที่จอร์แดนทำไว้กับกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) ในปี 2559 เพื่อแลกกับการได้รับเงินกู้ 700 ล้านดอลลาร์
กฎหมายภาษีดังกล่าวจะช่วยให้รัฐบาลมีรายได้จากภาษีเพิ่มขึ้นราว 300 ล้านดินาร์ (423 ล้านดอลลาร์) ต่อปี
ซาอุดิอาระเบีย, คูเวต และสหรัฐอาหรับเอมิเรสต์หวังว่าการอัดฉีดเงิน 2.5 พันล้านดอลลาร์จะช่วยแก้ปัญหาเศรษฐกิจของจอร์แดน และป้องกันไม่ให้ภาวะไร้เสถียรภาพทางการเมืองลุกลามออกไปในตะวันออกกลาง