องค์กรคุ้มครองผู้บริโภคยุโรป (BEUC) ยื่นคำร้องต่อหน่วยงานกำกับดูแลแห่งชาติให้ดำเนินการกับพฤติกรรมการติดตามข้อมูลส่วนตัวของผู้ใช้งานกูเกิล การยื่นคำร้องของ BEUC ครั้งนี้มีขึ้นในนามของหน่วยงานคุ้มครองผู้บริโภคจากเนเธอร์แลนด์, โปแลนด์, สาธารณรัฐเช็ก, กรีซ, สโลเวเนีย และสวีเดน โดยอ้างผลการวิจัยขององค์กรที่เกี่ยวข้องในนอร์เวย์
ความเคลื่อนไหวดังกล่าวมีขึ้นหลังจากกูเกิล ซึ่งเป็นผู้ให้บริการเว็บไซต์เสิร์ชเอนจิ้นและแอปพลิเคชั่นรายใหญ่ของโลก ถูกกล่าวหาจากสหรัฐว่าบีบบังคับให้ผู้ใช้งานเว็บไซต์และแอปพลิเคชั่นผ่านทางโทรศัพท์ต้องตั้งค่าการใช้งานโดยไม่คำนึงถึงความปลอดภัยของข้อมูลส่วนบุคคล
BEUC ให้เหตุผลในการยื่นคำร้องว่า กูเกิลได้ใช้วิธีการต่างๆ เพื่อกระตุ้นให้ผู้ใช้งานต้องเปิดการตั้งค่า "ประวัติตำแหน่งที่ตั้ง" และ "กิจกรรมการเข้าถึงเว็บไซต์และแอปพลิเคชั่น" ทั้งหมดที่ถูกรวมไว้อยู่ในกูเกิลแอคเคาท์ พร้อมระบุว่า "พฤติกรรมที่ไม่สมควรนี้ทำให้ข้อมูลส่วนตัวของผู้บริโภคต้องตกอยู่ในอันตราย"
เมื่อวันที่ 9 ต.ค.ที่ผ่านมา กูเกิลได้แถลงข่าวยอมรับว่า ทางบริษัทได้ตรวจพบช่องโหว่ (bug) ในระบบซึ่งอาจทำให้ข้อมูลส่วนตัวของลูกค้าจำนวน 500,000 รายรั่วไหลออกไป
กูเกิลเปิดเผยว่า ช่องโหว่ในแพลทฟอร์มการพัฒนา Google+ ได้ทำให้ข้อมูลส่วนตัวของลูกค้า เช่น ชื่อของผู้ใช้งาน, ชื่ออีเมล์, อาชีพ, เพศ และอายุ มีความเสี่ยงที่จะถูกแฮกเกอร์โจมตี แต่กูเกิลยืนยันว่า ไม่มีหลักฐานแสดงว่าแฮกเกอร์ได้เข้าถึงข้อมูลดังกล่าว
อย่างไรก็ดี กูเกิลระบุว่า ทางบริษัทได้ปิดการให้บริการ Google+ และมีการเปลี่ยนแปลงแนวทางการรักษาข้อมูลส่วนตัวของลูกค้า