Roundup: ผู้เชี่ยวชาญเผยเทคโนโลยี AI ช่วยส่งเสริมการแข่งขัน-หนุนระบบการเมืองในยุโรป

ข่าวต่างประเทศ Wednesday February 27, 2019 16:45 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

ฟินแลนด์และสภายุโรป (CoE) ได้จัดการประชุมระดับสูงที่กรุงเฮลซิงกิเมื่อวานนี้ เพื่อทบทวนถึงผลดีและผลเสียของเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐู์ (AI) โดยสุนทรพจน์ที่กล่าวต่อผู้เข้าร่วมประชุมกว่า 300 คนจากประเทศสมาชิก CoE จำนวน 47 ประเทศนั้น ระบุว่า AI เป็นทั้ง "ภัยคุกคามต่อประชาธิบไตย" แต่ขณะเดียวกัน AI ก็อาจจะช่วยปรับปรุง "คุณค่าของประชาธิปไตย" ในหมู่ประชากร และส่งเสริมขีดความสามารถด้านการแข่งขันของยุโรป

ทั้งนี้ ฟินแลนด์เป็นประธานในปัจจุบันของคณะมนตรีแห่งสภายุโรปซึ่งประกอบด้วย 47 ประเทศ

นายทิโม ซอยนี รมว.ต่างประเทศของฟินแลนด์กล่าวเปิดการประชุมว่า การหารือในเฮลซิงกิจะมุ่งเน้นไปที่ผลกระทบของ AI ต่อค่านิยมหลัก สิทธิมนุษยชน และหลักกฏหมายของยุโรป

นายซอยนีได้กล่าวถึงสองมาตรการล่าสุดที่เกี่ยวข้องกับ AI โดยในเดือนธ..ค.ที่ผ่านมา คณะกรรมาธิการเพื่อประสิทธิภาพแห่งความยุติธรรมของ CoE ได้นำหลักการทางจริยธรรมของยุโรปที่เกี่ยวข้องกับการใช้ AI ในระบบตุลาการมาใช้เป็นครั้งแรก และเมื่อสองสัปดาห์ที่ผ่านมา คณะมนตรีของ CoE ได้สนับสนุนให้รัฐสมาชิกรับผิดชอบในการจัดการกับภัยคุกคามของ AI ที่ใช้ในการจัดการและควบคุมพฤติกรรมทางเศรษฐกิจ สังคมและการเมือง

นางดันจา มิจาโทวิก กรรมาธิการด้านสิทธิมนุษยชนของ CoE ได้เน้นย้ำว่า เนื่องจากรัฐบาลของประเทศต่างๆมีหน้าที่รับผิดชอบในการปกป้องสิทธิมนุษยชน จึงเป็นหน้าที่ของพวกเขาที่จะต้องสร้างความเชื่อมั่นว่า บริษัทเอกชนที่ออกแบบ พัฒนา หรือใช้ระบบ AI จะไม่ละเมิดมาตรฐานด้านสิทธิมนุษยชน

ทั้งนี้ เธอได้เรียกร้องให้มีการติดต่อสื่อสารกับอุตสาหกรรมเทคโนโลยีอย่างจริงจังมากขึ้น เพื่อให้พวกเขาตระหนักถึงความจำเป็นในการนำเรื่องสิทธิมนุษยชนรวมอยู่ในการออกแบบระบบ AI

"ควรมีการส่งเสริมความรู้เรื่อง AI ในหมู่ประชาชนเพื่อช่วยให้ผู้คนเข้าใจว่า AI ทำงานอย่างไร และขณะเดียวกันก็ควรตระหนักเมื่อ AI ก่อให้เกิดอันตราย"
  • ตัวช่วยในด้านการเมือง

นายฟรองซัวส์ ฟรีดริช หัวหน้าแผนกช่วยเหลือการเลือกตั้งของคณะกรรมการทั่วไปของ CoE ได้เน้นย้ำถึงความเป็นไปได้ที่ว่า AI จะช่วยในการปรับปรุงความไว้วางใจของประชาชนในระบบการเมือง

เขาตั้งข้อสังเกตว่า ผู้มีสิทธิเลือกตั้งในการเลือกตั้งทั่วไปในประเทศสมาชิกของ CoE ได้ลดลงในช่วง 20 ปีที่ผ่านมา จากระดับ 77% เหลือ 64% ซึ่งเขามองว่า เป็นสัญญาณของความไม่ไว้วางใจใน "ระบอบประชาธิปไตยแบบมีผู้แทน"

"ด้วยการใช้ AI นั้น จะสามารถสร้างโอกาสใหม่สำหรับการมีส่วนร่วม และลดช่องว่างด้านความเชื่อมั่น" นายฟรีดริชกล่าว โดยเขาอ้างอิงถึงข่าวล่าสุดเกี่ยวกับกระบวนการที่มีอิทธิพลต่อผู้ลงคะแนนเสียงผ่านโซเชียลมีเดีย อย่างไรก็ตาม เขากล่าวว่าประโยชน์สูงสุดจาก AI จะช่วยสกัดกั้นอันตรายต่างๆ

"เราสามารถสกัดกั้นความเสี่ยงของการแทรกแซง" เขาแสดงความมั่นใจ

นอกจากนี้ เขายังกล่าวถึงความเป็นไปได้ที่ AI จะช่วยในการรักษาความปลอดภัยในการลงคะแนนเสียง และการระบุตัวตนของผู้มีสิทธิเลือกตั้ง รวมไปถึงการร้องเรียนและการอุทธรณ์หลังการลงคะแนนเสียง

  • หลักจริยธรรมด้าน AI จะเป็นเครื่องหมายรับรองมาตรฐานของยุโรป

นายเพคคา อลา-พีติลา ประธานกลุ่มผู้เชี่ยวชาญด้านปัญญาประดิษฐ์ของสหภาพยุโรป (EU) ได้กล่าวถึงกลุ่มของเขาที่สร้างหลักเกณฑ์เกี่ยวกับ AI

ทั้งนี้ มีผู้แสดงความคิดเห็นถึง 500 รายต่อร่างหลักเกณฑ์เกี่ยวกับ AI ที่จัดทำแล้วเสร็จในเดือนธ.ค. และจะมีการตีพิมพ์หลักเกณฑ์ดังกล่าวในเดือนเม.ย. ส่วนคำแนะนำเรื่องนโยบายและการลงทุนนั้นจะมีการเพิ่มเติมในภายหลัง

นายอลา-พีติลามีความเชื่อมั่นเกี่ยวกับโอกาสที่ยุโรปจะกลายเป็นผู้นำระดับโลกในการพัฒนาการใช้ AI อย่างมีจริยธรรม โดยเขายอมรับว่า ยุโรปได้สูญเสียตลาด AI ระดับผู้บริโภคให้กับจีนและสหรัฐเป็นส่วนใหญ่ แต่ยุโรปก็ยังคงภาคธุรกิจกับธุรกิจ (business-to-business sector)

นายยอลา-พีติลาเล็งเห็นถึง "โอกาสที่ยอดเยี่ยม" สำหรับยุโรปในด้านบริการต่างๆของ "รัฐสู่ประชาชน" โดยเขาระบุถึงโครงการระยะสิบปีสำหรับยุโรป

"เราสามารถออกเหรียญที่ผลิตในยุโรป" เขากล่าว และยังได้เน้นย้ำว่า จริยธรรมและความสามารถในการแข่งขันจะดำเนินไปด้วยกัน และ "คุณไม่สามารถแข่งขันได้ หากปราศจากจริยธรรม"

ทางด้านนายโวลแฟรม วอน เฮย์นิทซ์ หัวหน้าเจ้าหน้าที่ประสานงานนโยบายไซเบอร์ของสำนักงานการต่างประเทศของเยอรมนีกล่าวว่า กฎเกณฑ์และความสามารถในการแข่งขันนั้น ไม่อาจแยกจากกันได้ โดยเขากล่าวว่า "กฎเกณฑ์ที่ดี" จะทำให้ยุโรปสามารถแข่งขันได้

นายวอน เฮย์นิทซ์ กล่าวว่า ยุโรปอาจกลายเป็นต้นแบบด้าน AI สำหรับหลายประเทศ โดยเขาได้ทำการเปรียบเทียบกับการแนะนำล่าสุดเกี่ยวกับกฎเกณฑ์การปกป้องข้อมูลในยุโรป (GDPR) และการหารือในสหรัฐเกี่ยวกับบรรทัดฐานระดับชาติที่ควรจะเป็น

"แม้แต่บริษัทอเมริกันก็กำลังเรียกร้องการมีต้นแบบที่มีลักษณะเหมือน GDPR" เขากล่าว

สำนักข่าวซินหัวรายงานว่า การอภิปรายเรื่อง AI และกฏหมายในที่ประชุมที่เฮลซิงกิ จะดำเนินต่อไปในวันนี้


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ