โฆษกขององค์การสหประชาชาติ (UN) เปิดเผยว่า ประชากร 113 ล้านคนจาก 53 ประเทศเผชิญกับความไม่มั่นคงทางอาหารอย่างรุนแรงในปี 2561 อย่างไรก็ตาม ตัวเลขดังกล่าวลดลงเล็กน้อยจากปี 2560 ซึ่งอยู่ที่ระดับ 124 ล้านคน
นายสเตฟาน ดูจาร์ริก โฆษก UN เปิดเผยว่า ประชากรเกือบ 2 ใน 3 ที่เผชิญกับความหิวโหยอย่างรุนแรงนั้น อยู่ใน 8 ประเทศ ซึ่งได้แก่ อัฟกานิสถาน คองโก เอธิโอเปีย ไนจีเรีย ซูดานใต้ ซูดาน ซีเรีย และเยเมน
รายงานดังกล่าวซึ่งจัดทำขึ้นโดยความร่วมมือระหว่างองค์การอาหารและเกษตรแห่งสหประชาชาติ (FAO), โครงการอาหารโลก (WFP) และสหภาพยุโรป (EU) ระบุว่า สภาพภูมิอากาศและภัยพิบัติทางธรรมชาติทำให้ประชากรกว่าอีก 29 ล้านคนต้องเผชิญกับความไม่มั่นคงทางอาหารในปีที่ผ่านมา
นายอันโตนิโอ กูเตอร์เรส เลขาธิการ UN เปิดเผยว่า รายงานฉบับนี้ย้ำให้เห็นถึงชะตากรรมของผู้คนหลายล้านคนที่ต้องต่อสู้กับความหิวโหยและการขาดสารอาหารอย่างรุนแรงขึ้นทุกวัน ตลอดจนชี้ให้เห็นแนวทางการแก้ปัญหาที่สามารถฟื้นฟูชีวิตและชุมชนทั่วโลก
นอกจากนี้ เลขาธิการ UN ย้ำว่า จำเป็นอย่างยิ่งที่แนวทางปฏิบัติของคณะมนตรีความมั่นคงของ UN จะต้องได้รับการสนับสนุนอย่างต่อเนื่องจากปีที่แล้ว ในการประนามการใช้ความอดยากของพลเรือนเป็นอาวุธสงคราม
เมื่อเดือนพฤษภาคม 2561 คณะมนตรีความมั่นคง UN มีมติให้หลายประเทศดำเนินการตรวจสอบการละเมิดกฎหมายมนุษยธรรมระหว่างประเทศที่เกี่ยวข้องกับการใช้ความอดอยากของพลเรือนเป็นอาวุธสงคราม
สำนักข่าวซินหัวรายงานว่า รายงานวิกฤตการณ์อาหารโลกได้จัดทำขึ้นทุกปีโดยเครือข่ายทั่วโลกเพื่อการต่อต้านวิกฤตการณ์อาหาร (GNFC) ซึ่งประกอบไปด้วยพันธมิตรด้านมนุษยธรรมและการพัฒนาระหว่างประเทศ