สื่อต่างประเทศรายงานโดยอ้างแหล่งข่าวว่า บริษัทสัญชาติสหรัฐซึ่งเป็นผู้ผลิตชิปให้กับบริษัทหัวเว่ย ซึ่งรวมถึงควอลคอม และอินเทล ได้พยายามเรียกร้องให้รัฐบาลสหรัฐผ่อนปรนข้อกำหนด เพื่อให้ทางบริษัทสามารถจำหน่ายสินค้าให้กับหัวเว่ยได้
รายงานระบุว่า ผู้บริหารของอินเทล และซิลลินซ์ (Xilinx) ได้เข้าร่วมประชุมกับกระทรวงพาณิชย์เมื่อปลายเดือนพ.ค.ที่ผ่านมา เพื่อหารือถึงแนวทางในการแก้ไขปัญหา หลังหัวเว่ยถูกขึ้นบัญชีดำของสหรัฐ
ความเคลื่อนไหวดังกล่าวมีขึ้นหลังสหรัฐได้สั่งห้ามไม่ให้ผู้ผลิตชิปขายสินค้าให้กับหัวเว่ยโดยไม่มีข้อยกเว้น โดยอ้างเหตุผลด้านความมั่นคงของชาติ
ทั้งนี้ ผู้ผลิตชิปชาวสหรัฐให้เหตุผลว่า สินค้าที่จัดจำหน่ายให้กับหัวเว่ยเป็นชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ทั่วไปที่ใช้ในสมาร์ทโฟนหรือเซิร์ฟเวอร์ของคอมพิวเตอร์ ซึ่งไม่มีผลกระทบต่อความมั่นคงเหมือนกับอุปกรณ์ที่ใช้ในโครงข่าย 5G
นอกจากนี้ สื่อต่างประเทศรายงานโดยอ้างแหล่งข่าววงในว่า ยอดขายสมาร์ทโฟนในต่างประเทศของบริษัทหัวเว่ย เทคโนโลยี่ จะปรับตัวลดลงถึง 40-60 ล้านเครื่องในปีนี้ หรือประมาณ 40-60% เมื่อเทียบกับยอดขายสมาร์ทโฟนของหัวเว่ยในต่างประเทศประมาณ 100 ล้านเครื่องเมื่อปี 2561 ที่ผ่านมา จากยอดขายทั้งในจีนและทั่วโลกรวมกันประมาณ 206 ล้านเครื่อง
การคาดการณ์ดังกล่าวมีขึ้นหลังหัวเว่ยถูกรัฐบาลสหรัฐประกาศขึ้นบัญชีดำห้ามทำการซื้อขายกับบริษัทอเมริกัน โดยหัวเว่ยมีปัญหากับรัฐบาลสหรัฐมานานกว่า 1 ปีแล้ว หลังรัฐบาลสหรัฐแสดงความกังวลว่า อุปกรณ์ของหัวเว่ยอาจช่วยให้รัฐบาลจีนสามารถสอดแนมสหรัฐได้ จนทำให้ก่อนหน้านี้บริษัทอัลฟาเบท ซึ่งเป็นบริษัทแม่ของกูเกิล (Google) ได้ระงับการทำธุรกิจกับบริษัทหัวเว่ย แม้หลังจากนั้นไม่นานกระทรวงพาณิชย์สหรัฐได้ประกาศยกเลิกคำสั่งดังกล่าวเป็นการชั่วคราว
หากกูเกิลระงับการทำธุรกิจกับหัวเว่ยอย่างสิ้นเชิงแล้ว จะส่งผลให้สมาร์ทโฟนของหัวเว่ยไม่สามารถอัพเดตระบบปฏิบัติการแอนดรอยด์ (Android) ตลอดจนเข้าถึงแอปพลิเคชันยอดนิยมอย่าง Google Play Store, Gmail และ YouTube ซึ่งเป็นกรรมสิทธิ์ของกูเกิลได้
อย่างไรก็ตาม หัวเว่ยได้ออกมาปฏิเสธข้อกล่าวหาของสหรัฐ พร้อมยืนยันว่าหัวเว่ยเป็นบริษัทเอกชนและไม่ยุ่งเรื่องการเมือง