China Focus: กูรูชี้ช่องธุรกิจไทยบุกตลาดจีนผ่าน e-commerce และ Digital Marketing บนเวที TeC

ข่าวต่างประเทศ Monday July 22, 2019 13:40 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

"จีนเปลี่ยนทุก ๆ 3 ปี จีนเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ทุก ๆ 5 ปี และทุก 10 ปี จีนจะเปลี่ยนแปลงไปอย่างสิ้นเชิง" เป็นคำกล่าวที่ไม่ไกลเกินจริงเท่าไรนักสำหรับจีนในมุมมองของทูตไทยประจำประเทศจีน ซึ่งเป็นตลาดใหญ่ที่ไม่ว่าใครก็หวังจะเข้าไปทำตลาด

เทคโนโลยีใหม่ ๆ ที่เกิดขึ้นแทบจะตลอดเวลาในปัจจุบัน ได้สร้างโอกาสมากมายให้กับธุรกิจทั่วโลก ใคร ๆ ก็สามารถเข้าสู่ตลาดทั่วโลกได้อย่างไร้พรมแดนด้วยอีคอมเมิร์ซ และสิ่งนี้ก็ทำให้จีนตกเป็นเป้าหมายที่บรรดาผู้ประกอบการธุรกิจ ด้วยจำนวนประชากรและกำลังซื้อที่มีอยู่มหาศาล

อย่าลืมว่าโอกาสย่อมเป็นของผู้ที่มีความพร้อมก่อนเสมอ การหาข้อมูลและทำความเข้าใจตลาดจีนจึงเป็นอาวุธสำคัญในการเข้าไปแข่งขันในตลาดที่มีแต่ผู้หมายปองเช่นนี้

บริษัท TeC Thailand e-Business Center จัดงานสัมมนาใหญ่ในหัวข้อ "China e-Commerce Landscape 4.0 & Digital Marketing" ขึ้นเมื่อวันเสาร์ที่ 20 ก.ค.ที่ผ่านมา เพื่อผลักดันเหล่านักธุรกิจไทยให้ขับเคลื่อนธุรกิจผ่านระบบอีคอมเมิร์ซ เพื่อพัฒนาธุรกิจของตนเองได้อย่างก้าวกระโดด และมีโอกาสทำการตลาดกับตลาดที่ใหญ่ที่สุดในโลกอย่างจีนได้

ภาพรวมแพลตฟอร์ม e-commerce จีนกับโอกาสของผู้ประกอบการไทย

"มินต์" กุลธิรัตน์ ภควัชร์ไกรเลิศ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารบริษัท TeC กล่าวถึงความน่าสนใจของตลาดจีนว่า นอกจากจำนวนประชากรที่มีอยู่มหาศาลแล้ว ปัจจุบันจีนยังมีการยังเติบโตอย่างก้าวกระโดดทั้งในแง่ของเศรษฐกิจและเทคโนโลยี ดังจะเห็นได้จากตัวเลข GDP ที่ขยายตัวต่อเนื่องตลอด 10 ปีผ่านมา ขณะเดียวกันเทคโนโลยีในประเทศก็มีการพัฒนาขึ้นอย่างเห็นได้ชัด อีกทั้งการเข้าถึงอินเทอร์เน็ตทุกวันนี้ได้แพร่กระจายออกไปครอบคลุมทั่วประเทศ คนจีนทุกคนไม่ว่าจะอาศัยอยู่ในเมืองหรือชนบทล้วนสามารถเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตกันได้แล้ว ซึ่งสิ่งเหล่านี้ก็ได้เข้ามาเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมของผู้บริโภคในจีน ทำให้คนจีนตอนนี้นิยมซื้อสินค้าผ่านทางอีคอมเมิร์ซมากกว่าจะออกไปซื้อตามห้างสรรพสินค้าต่าง ๆ เพราะสามารถหาสินค้าได้ง่ายและรวดเร็วกว่า จึงเกิดเป็นแพลตฟอร์มใหม่ ๆ ขึ้นมากมาย ประกอบกับไทยเองก็ข้อได้เปรียบในการเข้าไปทำธุรกิจกับจีนอยู่แล้ว เพราะผู้ประกอบการจีนส่วนใหญ่ชอบที่จะทำธุรกิจกับคนไทย เนื่องจากชาวจีนมองว่าไทยและจีนเป็นเหมือนครอบครัวเดียวกัน และยิ่งไปกว่านั้น พฤติกรรมของผู้บริโภคทั้งชาวไทยและจีนก็มีอะไรที่คล้าย ๆ กันอีกด้วย

สำหรับผู้ประกอบการไทยที่สนใจออกไปบุกตลาดจีน คุณกุลธิรัตน์แนะนำว่า อันดับแรก ควรหาข้อมูลเกี่ยวกับแพลตฟอร์มซื้อขายสินค้าที่มีอยู่มากมาย เพื่อเลือกช่องทางที่ถูกต้องในการเข้าถึงผู้บริโภคชาวจีน อย่างในปัจจุบัน Alibaba ยังคงครองอันดับหนึ่งในตลาด ตามมาด้วย JD.com ซึ่งเป็นที่นิยมในหมู่ผู้บริโภคที่ต้องการสินค้าที่อาจมีราคาสูงกว่านิดหน่อย แต่มีบริการส่งที่ดีกว่าและเร็วกว่าแพลตฟอร์มอื่น ๆ หรือแม้แต่ suning.com ที่พัฒนามาจากซูเปอร์มาเก็ตสู่ช่องทางออนไลน์ที่มีของขายทุกอย่างและได้รับความนิยมจากผู้บริโภคชาวจีนเป็นอย่างมาก รวมถึง Tmall.com, Taobao.com และ youzan.com ซึ่งเป็นผู้พัฒนา WeChat Mini Program แพลตฟอร์มที่กำลังสร้างปรากฏการณ์ใหม่ให้กับตลาดจีน ด้วยการเปิดโอกาสให้แบรนด์ได้มีโอกาสพบกับลูกค้าได้โดยตรงไม่ต้องผ่าน e-marketplace ทั้งนี้ คุณกุลธิรัตน์ได้ตั้งข้อสังเกตว่า แพลตฟอร์มแต่ละแพลตฟอร์มมีจุดเด่นที่ไม่เหมือนกัน ขึ้นอยู่กับว่าแพลตฟอร์มนั้นจะโฟกัสไปที่สินค้าประเภทใด

เมื่อเจอช่องทางที่เหมาะสมกับสินค้าที่จะนำเข้าไปขายแล้ว เรื่องของการขนส่งก็สำคัญไม่แพ้กัน เพราะ "อีคอมเมิร์ซจะโตไม่ได้ถ้าไม่มี e-logistic ที่ดี" คุณกุลธิรัตน์กล่าว พร้อมอธิบายต่อไปว่า ในจีนมีผู้ให้บริการขนส่งให้เลือกใช้อยู่มากมาย ขึ้นอยู่กับว่าเราต้องการโฟกัสที่อะไร ต้องการเน้นการขนส่งที่มีราคาถูก หรือมีการรับประกันเนื่องจากสินค้ามีโอกาสเสียหายสูง

สำหรับสินค้าไทยที่ได้รับความนิยมในตลาดจีนนั้น ได้แก่ พวกผลไม้อบแห้ง ยางพารา ผลิตภัณฑ์ประทินผิว ซึ่งหลายๆแบรนด์จะเริ่มจากการขายให้กับนักท่องเที่ยวจีนที่มาไทยซื้อกลับไปใช้แล้วบอกต่อ นำไปให้เป็นของฝาก หรือมีอินฟลูเอนเซอร์มาช่วยรีวิวผลิตภัณฑ์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งอินฟลูเอนเซอร์ที่เป็นคนดัง ยิ่งดังเท่าไหร่ก็จะยิ่งทำให้สินค้าได้รับความนิยมมากยิ่งขึ้น คุณกุลธิรัตน์ระบุ พร้อมปิดท้ายว่า อย่างไรก็ตาม แม้ตลาดจีนจะโอกาสที่รอคอยให้ผู้ประกอบการไทยเข้ามาคว้าอยู่อีกมาก แต่ก็ไม่มีอะไรที่เป็นสูตรสำเร็จ การลองผิดลองถูกจึงไม่ใช่เรื่องเสียหายอะไร และอีกหนึ่งสิ่งสำคัญก็คือ ผู้ประกอบการที่ต้องการนำสินค้าไปขายในจีน ควรต้องจดเครื่องหมายการค้า เพื่อสร้างความน่าเชื่อให้กับสินค้า และป้องกันการละเมิดลิขสิทธิ์ที่อาจจะเกิดขึ้นได้

หุ่นยนต์เชฟบะหมี่ที่ไม่ได้มีอยู่แค่ที่ร้านราเมน

คุณณัฐพร วุ่นกลิ่นหอม นายกสมาคมดิจิทัล ประเทศไทย ได้ขึ้นเวทีและกล่าวถึงมุมมองด้านเทคโนโลยีในจีน และไฮไลต์เด็ดอย่างประสบการณ์จากการเข้าร่วมโครงการ Alibaba Executive Program มาเริ่มกันที่ปัจจัยที่ผลักดันเทคโนโลยีในจีนก่อน

อันดับแรกคือตัวเทคโนโลยีเอง (Technology) ซึ่งนักการตลาดหรือนักธุรกิจไม่ว่าจะในแวดวงใดที่ต้องการจะใช้เทคโนโลยีเพื่อส่งเสริมการทำธุรกิจจะต้องพิจารณาว่า เทคโนโลยีใดมีความสำคัญสำหรับบริษัทหรือผลิตภัณฑ์ ในขณะที่ E-business จะเป็นปัจจัยที่จะรองรับความต้องการที่ Digital ก่อให้เกิด ยกตัวอย่างเช่น หุ่นยนต์ ที่ถือเป็นตัวอย่างของเทคโนโลยีที่เข้ามาเปลี่ยนแปลงและปั่นป่วนหรือ Disrupt ธุรกิจในจีน ซึ่งธุรกิจแรกที่ถูกหุ่นยนต์เข้ามาเปลี่ยนแปลง คือ ร้านแลกเหรียญที่มีการใช้หุ่นยนต์แทนที่คน

หากจะเรียงลำดับไทม์ไลน์บทบาทของหุ่นยนต์และแขนกลที่โดดเด่นมากขึ้นในจีนแล้ว ตัวอย่างที่คุณณัฐพรนำมาเสนอถือว่าน่าสนใจและสะท้อนภาพความเป็นผู้นำด้านเทคโนโลยีของจีนได้เป็นอย่างดี

ปี 2013 เป็นปีที่มีการทดลองหุ่นยนต์ให้ทำแฮมเบอร์เกอร์ ด้วยการวางเรียงวัตถุดิบที่ใช้ในการทำแฮมเบอร์เกอร์เป็นวงกลม ไม่ว่าจะเป็นขนมปัง แฮม ผัก เพื่อให้หุ่นยนต์หริอแขนกลหยิบวัตถุดิบเหล่านี้วางเรียงเป็นชั้นๆจนกลายเป็นแฮมเบอร์เกอร์ชิ้นหนึ่งในที่สุด

ปี 2015 เป็นปีของ Robot chefs อย่าง Toya และ Kona ซึ่งเป็นหุ่นยนต์ประจำร้านขายราเมนในเซี่ยงไฮ้ ที่เริ่มต้นสามารถปรุงราเมนได้ 4 เมนู

ปี 2018 ได้มีการนำ Robot noodle chefs มาใช้งาน ซึ่งสถานที่ที่ได้มีการนำหุ่นยนต์หรือแขนกลปรุงบะหมี่หอมๆร้อนๆให้มนุษย์รับประทานนี้ ไม่ใช่ที่ร้านราเมนอีกต่อไป เราสามารถพบหุ่นยนต์เชฟบะหมี่ได้ที่โรงอาหารของสำนักงานทั่วไป โดยเพิ่มความล้ำด้วยการให้พนักงานสามารถสั่งบะหมี่ผ่านแอปพลิเคชั่นก่อนที่จะลงมาทานได้ ไม่ว่าจะเป็นการเลือกประเภทของบะหมี่หรือส่วนประกอบต่างๆที่พนักงานอยากรับประทาน

ไทม์ไลน์ดังกล่าวยังไม่ตื่นตาตื่นใจเท่าประสบการณ์จากทริป Alibaba Executive Program ซึ่งได้มีการเดินทางไปยังหมู่บ้านอีคอมเมิร์ซตัวอย่างที่ชาวบ้านได้ช่วยกันผลิตสินค้าด้วยการนำเทคโนโลยีเข้ามาประยุกต์ได้อย่างน่าทึ่ง ภายในบ้านจะมีสมาชิกในครัวเรือนประมาณ 4-5 คนและทำอีคอมเมิร์ซแทบจะทุกหลัง ออเดอร์ที่บ้านแต่ละหลังได้รับต่อวันมีมูลค่าถึง 2-3 ล้านหยวน แขนกลหรือหุ่นยนต์ที่ปรากฎตัวตามร้านอาหารในเมืองใหญ่ก็มีให้เห็นที่หมู่บ้านที่ช่างจะแข็งแกร่งและทรงพลังเช่นนี้ เมื่อบ้านหลายๆหลังมีแขนกลที่ถูกนำมาใช้ในการบรรจุสินค้าลงกล่อง การที่จีนได้พัฒนาแขนกลมาเป็นเวลานาน ทำให้ราคาแขนกลถูกลงและรูปแบบการใช้งานได้หลากหลายมากยิ่งขึ้น

นอกจากนี้ คุณณัฐพรยังได้ยกตัวอย่างของโรงแรมสุดล้ำอย่าง Alibaba Flyzoo Hotel ที่แขกผู้ใช้บริการสามารถเรียกใช้งานหุ่นยนต์ ไม่ว่าจะเป็นการสั่งอาหารมาทานที่ห้องแล้วสามารถเรียกหุ่นยนต์มาเก็บจาน หรือแม้แต่บริการในภัตตาคารภายในโรงแรมหรือฟิตเนสที่ระบบสามารถเช็คข้อมูลความชอบส่วนตัวของแขกแล้วสามารถนำข้อมูลดังกล่าวมาใช้เพื่อสร้างบริการที่น่าประทับใจอย่างคุณณัฐพรชอบสีฟ้า และได้จองโต๊ะในภัตตาคารภายในโรงแรม ทางภัตตาคารก็ได้จัดโต๊ะธีมสีฟ้าเพื่อเอาใจคุณณัฐพร หรือห้องฟิตเนสที่นำ AR มาใช้เพื่อให้แขกปั่นจักรยานออกกำลังกายภายใต้ธีมต่างๆที่เปลี่ยนแปลงไปไม่ซ้ำกันในแต่ละวัน โดยตัวอย่างธีมห้องปั่นจักรยานในฟิตเนสที่คุณณัฐพรได้นำมาให้ดูนั้นเป็นธีมจากภาพยนตร์ Avatar ซึ่งสร้างบรรยากาศคึกคักให้กับแขกผู้ใช้บริการฟิตเนสได้อย่างตื่นเต้นและประทับใจได้เป็นอย่างดี

เรียกได้ว่า การนำดิจิทัลและเทคโนโลยีมาใช้เพื่อที่จะตอบสนองลูกค้าได้อย่างเหนือกว่านี้ นอกจากจะช่วยดึงเงินเข้าประเทศแล้ว ยังถือเป็นการปูทางและช่วยให้จีนผลิตสินค้าหรือบริการให้ได้ในแบบที่ลูกค้าต้องร้องว้าวได้อย่างแน่นอน

ยอดค้าปลีกในตลาดอีคอมเมิร์ซจีนคาดโต 37% สิ้นปีนี้

"Mobile dominates the e-commerce ecosystem in China" นับเป็นไฮไลต์ที่ชี้ให้เห็นภาพตลาดอีคอมเมิร์ซและพฤติกรรมผู้บริโภคชาวจีนได้อย่างชัดเจนที่สุด จากคำบอกเล่าของมร. Arthur Yiu รองผู้จัดการทั่วไป บริษัท INnSHINE ซึ่งเป็นมาร์เก็ตติ้ง เอเจนซี่ ชื่อดังของจีน

Arthur ยังได้กล่าวแนะนำตลาดอีคอมเมิร์ซและการทำตลาดดิจิทัลของจีนว่า จีนเป็นตลาดที่มีขนาดใหญ่และเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว นอกจากนี้ ตลาดจีนยังเชื่อมโยงกับตลาดโลกและยังเป็นตลาดที่มีการพัฒนาระบบของตนเองขึ้นมาเอง ซึ่งในที่นี้หมายถึงสื่อและโซเชียลมีเดียอย่าง Weibo หรือวีแชท เนื่องจากกูเกิ้ล, เฟซบุ๊ก, อินสตาแกรมยังไม่สามารถเปิดให้บริการในจีนได้ การที่จะทำตลาดในจีนเราต้องทำความเข้าใจว่า ปัจจัยที่ผลักดันผู้บริโภคชาวจีน เพราะพฤติกรรมของผู้บริโภคนั่นเองที่จะทำให้เกิดความเคลื่อนไหวในตลาด

ดังนั้น แนวโน้มของพฤติกรรมผู้บริโภคแดนมังกรที่ควรจะทำความเข้าใจก่อนทำตลาดมีดังนี้

1. Mobile Centric กลุ่มผู้บริโภคชาวจีนใช้มือถืออย่างหนักหน่วง โดยใช้เวลาไปกับมือถือถึง 5 ชั่วโมงต่อวัน และมีแนวโน้มที่จะเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ดังนั้นการที่จะคิดกลยุทธ์ในการทำตลาด เราต้องคิดถึงพฤติกรรมที่โดดเด่นนี้ด้วยเช่นกัน

2. Social Influencer ซึ่งแบรนด์ต่างๆจะใช้อินฟลูเอนเซอร์เพื่อเชื่อมโยงและเข้าถึงผู้บริโภค

3. Video เนื่องจากวิดีโอเป็นสื่อที่สะท้อนให้เห็นถึงความต้องการของผู้บริโภค แต่การที่จะทำให้วิดีโอสามารถเข้าถึงกลุ่มเป้าหมาย ผู้ผลิตวิดีโอจะต้องรู้และเข้าใจทัศนคติของผู้บริโภคด้วยเช่นกัน

4. I am Me. การที่ผู้บริโภคสนใจที่จะแชร์กิจกรรมต่างๆของตนเอง จึงทำให้เกิดพฤติกรรมที่ต้องการจะแบ่งปันความเคลื่อนไหวรอบตัวให้กับเพื่อนฝูงหรือโลกภายนอก

สำหรับรูปแบบการใช้งานมือถือหรืออุปกรณ์ไร้สายของผู้บริโภคชาวจีนนั้น แบ่งได้เป็นหัวข้อต่างๆ ดังนี้ 1. For Social: ไม่ว่าจะเป็นการการพูดคุยกับสมาชิกในครอบครัว เพื่อนฝูง หรือแม้แต่เจ้านาย รวมทั้งการแบ่งปันข้อมูลหรือภาพเรื่องราวต่างๆลงบนสื่อโซเชียล 2. Entertainment ผู้บริโภคชาวจีนนิยมดูทีวีและวิดีโอผ่านทางมือถือ ซึ่งถือเป็นแหล่งเผยแพร่ความบันเทิงที่สำคัญ 3. Gaming นอกจากนี้ การเล่นเกมก็เป็นอีกหนึ่งกิจกรรมยอดนิยมบนมือถือ 4. Shopping การช็อปออนไลน์ถือเป็นพฤติกรรมที่เห็นได้ชัดเจนเป็นอย่างยิ่ง 5. Paying การชำระเงินผ่านมือถือกลายเป็นเรื่องที่เห็นได้อย่างแพร่หลายในจีนไม่ว่าจะเป็นในเมืองหรือชนบทก็ตาม

เมื่อเราเข้าใจในพฤติกรรมของผู้บริโภคชาวจีนในระดับหนึ่งแล้ว รูปแบบการทำตลาดผ่านสื่อโซเชียลในจีนควรเป็นเช่นไร Authur ได้เล่าให้ฟังว่า การที่แบรนด์ใดแบรนด์หนึ่งจะประสบความสำเร็จนั้น จะต้องใช้ Key Opinion Leader (KOL) ที่แตกต่างกันไป เช่น หากต้องการที่จะพูดถึงการใช้งานผลิตภัณฑ์ก็ควรจะใช้ KOL ที่มีคุณสมบัติที่เหมาะสมกับการทำหน้าที่ดังกล่าว ในขณะที่การใช้ KOL เพื่อส่งเสริมหรือโปรโมทผลิตภัณฑ์ แบรนด์ก็ควรจะเลือกใช้ KOL อีกคนที่ทำหน้าที่ได้ดี เป็นต้น

นอกจากนี้ สิ่งที่น่าใจอีกข้อของพฤติกรรมผู้บริโภคชาวจีนก็คือ "ผู้บริโภคชาวจีนชอบลองของใหม่" Arthur กล่าวว่า ผู้บริโภคชาวจีน 50% เต็มใจที่จะซื้อสินค้าหรือทดลองซื้อแบรนด์ใหม่ๆ ในขณะที่ 46% สนใจเสิร์ชหาข้อมูลผลิตภัณฑ์ใหม่ๆกันอย่างคึกคัก ด้วยพฤติกรรมผู้บริโภคและรูปแบบของสื่อในจีนเช่นนี้ จึงทำให้เกิดรูปแบบของโซเชียล อีคอมเมิร์ซ เช่น KOL ที่สร้างคอนเทนต์ที่แตกต่างจนไดรับความนิยม หรือวิดีโอสั้นๆที่ดึงดูดความสนใจได้เป็นอย่างดี ดังนั้น การผสมผสานสื่อที่ได้รับความนิยมอย่างวิดีโอหรือไลฟ์บรอดคาสท์ก็จะทำให้เจ้าของผลิตภัณฑ์สามารถทำยอดขาย ตลอดจนเข้าถึง และสร้างฟอลโลว์เวอร์ได้เป็นอย่างดี

เจาะตลาดจีนไม่ใช่เรื่องยาก แค่หาเครื่องมือที่เหมาะสมให้เจอ

ทางด้าน มร. Hong Cheng Kit ผู้อำนวยการกิตติมศักดิ์สมาคมธุรกิจพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์สาธารณรัฐประชาชนจีน ยังแนะนำให้ผู้ประกอบการไทยที่ต้องการบุกตลาดจีน ใช้วิธีทำการตลาดแบบ Seeding Marketing ด้วยการเข้าไปสร้างตัวตน ความน่าเชื่อถือ และเรียกความเชื่อมั่นในแบรนด์ ผ่านการทำคอนเทนต์บนช่องทางต่าง ๆ เพราะผู้บริโภคในปัจจุบันส่วนใหญ่จะค้นหาข้อมูลและรีวิวสินค้าก่อนตัดสินใจซื้อสินค้า ดังนั้นความเชื่อมั่นในตัวสินค้าและความน่าเชื่อถือของร้านค้าออนไลน์จึงเป็นปัจจัยสำคัญต่อการตัดสินใจของลูกค้าโดยตรง

มร. Hong อธิบายว่า การ seeding นั้น อาจทำได้ด้วยการใช้ KOL ที่เป็นเซเลบคนดังทั้งหลายมาช่วยรีวิวสินค้าหรือทำคอนเทนต์เพื่อเผยแพร่บนแพลตฟอร์มและเว็บไซต์ยอดนิยมของจีนอย่าง RED BOOK, TIK TOK หรือ Weibo ซึ่งเป็นสื่อสังคมออนไลน์ที่ใหญ่ที่สุดของจีน นอกจากนี้ ผู้ประกอบการยังอาจเลือกโฆษณาสินค้าบนแพลตฟอร์มการท่องเที่ยวของจีนอย่าง Ctrip, Travelgo, Fliggy หรือแม้แต่การทำโฆษณาบน WeChat Mini Program แพลตฟอร์มซื้อขายสินค้าแบบ online to offline ที่มีจุดเด่นในการให้ข้อมูลสถานที่ ร้านอาหาร แหล่งชอปปิ้ง ที่เปิดโอกาสให้ลูกค้าสามารถสั่งสินค้าโดยตรงจากผู้ขายได้ทันทีหลังจากค้นพบสินค้าที่ต้องการ ซึ่งกำลังได้รับความนิยมในจีน

สำหรับแพลตฟอร์ม e-commerce ที่ได้รับความนิยมมากสุดได้แก่ taopao โดยมีกลุ่มคนในช่วงวัยกลางคนเป็นฐานผู้ใช้งานที่ใหญ่ที่สุด ขณะที่กลุ่มคนที่มีอายุน้อยลงมาอยู่ในช่วงประมาณ 20-30 ปี ซึ่งอาจกล่าวได้ว่าคนกลุ่มนี้คือตลาดในอนาคต เริ่มหันไปใช้งานแพลตฟอร์มอื่น ๆ กันมากขึ้น อาทิ Pin duo duo, Jingdon.com หรือ Tmall ซึ่งเป็นแพลตฟอร์มที่เป็นที่เชื่อถือในเรื่องคุณภาพสินค้า เนื่องจากร้านค้าที่จะเข้ามาเปิดบน Tmall นั้นต้องผ่านการจดทะเบียนร้านค้ามาก่อน จึงเห็นได้ว่ามีแบรนด์ระดับโลกใหญ่ ๆ ที่เข้ามาเปิดร้านตัวเองบน Tmall มากมาย โดย Mr.Hong สรุปว่า จีนมีช่องทางในการทำการตลาดดิจิทัลอยู่มาก ผู้ประกอบการจึงควรศึกษาและเลือกใช้ช่องทางที่เหมาะสมที่สุดเพื่อให้เกิดประโยชน์มากที่สุด

นักกฎหมายแนะคิดบุกตลาดจีน อย่าลืมศึกษาข้อมูลให้รอบด้าน

ด้านคุณชินภัทร์ วิสุทธิแพทย์ พาร์ทเนอร์ บริษัท สำนักงานกฎหมายสยามซิตี้ กล่าวว่า นอกจากจะรู้ว่าควรเอาอะไรเข้าไปขาย และใช้ช่องทางไหนเพื่อเจาะตลาดจีนแล้ว สิ่งสำคัญที่ขาดไม่ได้ก็คือ "ความรู้ด้านกฎหมายและภาษีซึ่งเป็นเรื่องที่ผู้ประกอบการต้องหันมาสนใจ เพื่อให้การบริหารธุรกิจเป็นไปอย่างถูกต้อง และเพื่อนำไปประยุกต์ใช้ให้การประกอบธุรกิจเกิดผลประโยชน์สูงสุด"

คุณชินภัทร์ระบุว่า ช่องทางในการเข้าสู่ตลาดจีนมีให้เลือกทั้ง การเข้าไปตั้งบริษัท หาซัพลายเออร์ เป็นหุ้นส่วนทางธุรกิจ โดยสิ่งสำคัญอันดับแรกที่ผู้ประกอบการควรให้ความสำคัญ ได้แก่ Know Your Costumer (KYC) คือต้องรู้จักอีกฝ่ายให้ดีพอ ดูว่าธุรกิจเขาเป็นอย่างไร งบการเงินเชื่อถือได้ไหม ซึ่งอาจทำได้ด้วยการขอข้อมูลจากบริษัทโดยตรง และตรวจสอบกับหน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้องอีกทีเพื่อให้แน่ใจ นอกจากนี้ ยังไม่มีความจำเป็นที่จะต้องหว่านแหเจาะตลาดจีนทั้งหมด ผู้ประกอบการการเลือกเมืองหรือมณฑลที่เด่น ๆ มีกำลังซื้อเยอะๆ แล้วถามตัวเองว่ามีสินค้าอะไรที่จะนำเข้าไปเปิดตลาดที่นั่น จะทำธุรกิจด้วยวิธีการใด เช่น การส่งออกสินค้าจากไทยเพื่อไปขายในตลาดจีน มีฐานการผลิตอยู่ในไทย ส่งออกไปขายตามแพลตฟอร์มหรือช่องทางต่าง ๆ ที่มีอยู่ ซึ่งวิธีการนี้จะเป็นวิธีการที่เสี่ยงน้อยที่สุด หรือใช้วิธีทำสัญญาแต่งตั้งตัวแทนจำหน่ายในจีน ซึ่งเป็นวิธีที่มีความเสี่ยงเพิ่มขึ้นมา แต่ก็แลกมากับโอกาสในการเข้าตลาดที่มากขึ้น เพราะธุรกิจท้องถิ่นจะมีฐานลูกค้าและมีความเข้าใจในตลาดเป็นทุนเดิมอยู่แล้ว

คุณชินภัทร์ย้ำว่า การเข้าไปลงทุนทำธุรกิจในประเทศใด ๆ ก็ตาม ผู้ประกอบการควรเข้าไปศึกษา เก็บข้อมูล ทำความเข้าใจข้อกฎหมาย และพฤติกรรมต่าง ๆ ให้ดีก่อน แล้วค่อย ๆ ขยายกิจการให้ใหญ่ขึ้น เพื่อลดความเสี่ยงที่จะเกิดขึ้น ขณะเดียวกันก็ต้องทำความเข้าใจตัวบทกฎหมายที่เกี่ยวข้องของไทย มีการวางแผนภาษีให้รัดกุม เพื่อให้เกิดประโยชน์ต่อธุรกิจมากที่สุด


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ