ยูนิเวอร์ซัม บริษัทวิจัยกลยุทธ์ที่มีความเชี่ยวชาญในด้านการสร้างแบรนด์ เปิดเผยผลสำรวจบริษัทที่นักศึกษาอยากทำงานด้วยมากที่สุด หรือ World's Most Attractive Employer (WMAE) ประจำปี 2562 ซึ่งผลปรากฏว่า กูเกิลยังครองอันดับหนึ่งได้เป็นปีที่ 10 ติดต่อกัน นอกจากนี้ ผลสำรวจยังชี้ด้วยว่า ความไม่แน่นอนทางเศรษฐกิจส่งผลต่อเป้าหมายในอาชีพของนักศึกษา
ผลสำรวจดังกล่าวได้จากการสำรวจความคิดเห็นของนักศึกษาสาขาธุรกิจและวิศวกรรม/ไอที จำนวน 247,235 คน จาก 12 ประเทศที่มีเศรษฐกิจใหญ่ที่สุดในโลก เพื่อวิเคราะห์บริษัท อุตสาหกรรม และคุณสมบัติการจ้างงานซึ่งเป็นที่ต้องการของนักศึกษาจบใหม่ ผลสำรวจนี้นำเสนอข้อมูลเชิงลึกของนักศึกษาระดับหัวกะทิซึ่งเป็นที่ต้องการของตลาด ซึ่งช่วยให้นายจ้างเข้าใจความคาดหวังและความต้องการของนักศึกษากลุ่มนี้
โดยกูเกิล เป็นบริษัทที่ครองอันดับหนึ่งเป็นปีที่ 10 ติดต่อกัน ทั้งในกลุ่มนักศึกษาสาขาธุรกิจ และสาขาวิศวกรรม/ไอที เนื่องจากสามารถตอบสนองความต้องการของ Gen Z ได้ทั้งสองแง่มุม นั่นคือ นวัตกรรมและความไม่หยุดนิ่งอยู่กับที่ รวมถึงความเป็นองค์กรขนาดใหญ่ ประสบความสำเร็จ และมั่นคง
นอกจากกูเกิลแล้ว บรรดาบริษัทชื่อดังอื่นๆต่างดึงดูดนักศึกษา Gen Z ได้เช่นกัน โดยบริษัท 5 อันดับแรกที่นักศึกษาสาขาธุรกิจอยากทำงานด้วยมากที่สุดในปี 2562 ได้แก่ อันดับ 1 กูเกิล ตามมาด้วย เอินส์ท แอนด์ ยัง ซึ่งขยับขึ้นหนึ่งขั้นมาอยู่ที่อันดับ 2 ในปีนี้ ต่อด้วยอันดับ 3 PwC ที่พุ่งขึ้นมาจากอันดับ 6 ในปีที่แล้ว อันดับ 4 เป็นของบริษัทดีลอยท์ และ แอปเปิ้ล รั้งอันดับ 5 จากเดิมที่อันดับ 7
ส่วนบริษัท 5 อันดับแรกที่นักศึกษาสาขาวิศวกรรม/ไอที อยากทำงานด้วยมากที่สุดในปี 2562 ได้แก่ อันดับ 1 กูเกิล ตามด้วย ไมโครซอฟท์ และ แอปเปิล ซึ่งรั้งอันดับ 2 และ 3 เช่นเดียวกับในปีก่อน ส่วนอันดับ 4 ตกเป็นของ บีเอ็มดับเบิลยู กรุ๊ป ซึ่งไม่เปลี่ยนแปลงจากปีที่แล้วเช่นกัน ปิดท้ายด้วย ไอบีเอ็ม ในอันดับที่ 5
นอกจากนี้ ผลสำรวจยังแสดงให้เห็นด้วยว่า ความไม่แน่นอนทางเศรษฐกิจมีผลมากขึ้นต่อเป้าหมายในอาชีพของนักศึกษา ผลสำรวจพบว่า นักศึกษา Gen Z มีความคิดที่แตกต่างกันอย่างชัดเจน โดย 53% มองหาความมั่นคง ขณะที่ 35% ต้องการเอาชนะความท้าทายใหม่ๆ ที่โลกกำลังเผชิญอยู่ในขณะนี้
ขณะเดียวกันพบว่า อุตสาหกรรมอีคอมเมิร์ซเริ่มได้รับความสนใจมากขึ้นในหมู่นักศึกษาสาขาธุรกิจ เมื่อพิจารณาจากกรณีของอเมซอน ด้านอุตสาหกรรมยานยนต์ที่มีความเชื่อมโยงมากขึ้นกับนวัตกรรม ความคิดสร้างสรรค์ และรายได้สูงในอนาคต ส่งผลให้อุตสาหกรรมนี้ดึงดูดใจและมีความสามารถในการแข่งขันมากขึ้น
นักศึกษายังให้ความสำคัญกับสมดุลระหว่างชีวิตกับการทำงานเป็นอย่างมาก ทำให้อยากไปทำงานต่างประเทศน้อยลง ขณะที่สถานการณ์ความตึงเครียดทางการค้าก็ส่งผลกระทบเชิงลบต่อบริษัทต่างชาติ
นักศึกษาสาขาธุรกิจเผยด้วยว่า สามช่องทางหลักที่ใช้พูดคุยเรื่องงานคือโซเชียลมีเดีย เว็บไซต์ของนายจ้าง และเว็บบอร์ดออนไลน์ ส่วนนักศึกษาสาขาวิศวกรรม/ไอที หางานผ่านทางมหกรรมจัดหางานมากกว่าเว็บบอร์ดออนไลน์