คณะกรรมการระหว่างประเทศซึ่งประกอบด้วยสมาชิกสภานิติบัญญัติของประเทศต่างๆ ได้เรียกร้องให้บรรดาโซเชียลมีเดียหยุดการโฆษณาการเมืองทางออนไลน์ที่มีเป้าหมายเพื่อเผยแพร่ข้อมูลที่เป็นเท็จหรือทำให้เกิดความเข้าใจผิด ไปจนกว่าจะมีการออกกฎเกณฑ์เพื่อควบคุมเรื่องดังกล่าว
คณะกรรมการซึ่งจัดตั้งขึ้นเพื่อสอบสวนเกี่ยวกับการบิดเบือนข้อมูลนั้น ได้ร่วมประชุมกันที่เมืองดับลิน เพื่อรับฟังหลักฐานจากเฟซบุ๊ก อิงค์, ทวิตเตอร์ อิงค์ และกูเกิลซึ่งอยู่ในเครือของอัลฟาเบท อิงค์ รวมถึงผู้เชี่ยวชาญอื่นๆ เกี่ยวกับอันตรายทางออนไลน์, คำพูดที่สร้างความเกลียดชัง และการแทรกแซงการเลือกตั้ง โดยการประชุมดังกล่าวมีสมาชิกสภานิติบัญญัติจากประเทศต่างๆ เข้าร่วม ได้แก่ ออสเตรเลีย, ฟินแลนด์, เอสโตเนีย, จอร์เจีย, สิงคโปร์, สหราชอาณาจักร และสหรัฐ
นางมาร์กรีธ เวสทาเกอร์ หัวหน้าฝ่ายต่อต้านการผูกขาดของยุโรปกล่าวในการประชุมดังกล่าวว่า หากเป็นการโฆษณาเพียงแค่ในฟีดของคุณ, ระหว่างคุณกับเฟซบุ๊ก และมีเป้าหมายว่าคุณคือใคร นั่นก็จะไม่ใช่ประชาธิปไตยอีกต่อไป
ทางด้านเฟซบุ๊กแถลงว่า วิดีโอทางการแพทย์ที่แชร์โดยพรรคอนุรักษ์นิยมของอังกฤษ จะไม่ผิดกฎเกี่ยวกับการโฆษณาทางการเมือง หากวิดีโอนั้นเป็นการโฆษณาที่เสียค่าใช้จ่าย
นางรีเบกกา สติมสัน หัวหน้าฝ่ายนโยบายสาธารณะอังกฤษของเฟซบุ๊กเปิดเผยกับผู้สื่อข่าวเพื่อชี้แจงนโยบายของบริษัทก่อนการเลือกตั้งของอังกฤษในวันที่ 12 ธ.ค.ว่า โฆษณาจากพรรคการเมืองและผู้สมัครเลือกตั้งจะไม่เข้าข่ายในกฎเกณฑ์การตรวจสอบข้อเท็จจริงของเฟซบุ๊ก
ทั้งนี้ เฟซบุ๊กเป็นพันธมิตรกับองค์กรตรวจสอบข้อเท็จจริงของบุคคลที่สามทั่วโลก เพื่อควบคุมการให้ข้อมูลที่เป็นเท็จในเว็บไซต์
ก่อนการเลือกตั้งที่จะสามารถกำหนดอนาคตของกระบวนการถอนตัวของอังกฤษออกจากสหภาพยุโรป (Brexit) นั้น นักการเมืองบางคนของอังกฤษได้แสดงความกังวลว่า อาจมีการเผยแพร่ข้อมูลที่ทำให้เข้าใจผิดอย่างรวดเร็วผ่านทางโซเชียลมีเดีย