ทางการญี่ปุ่นระบุในวันนี้ว่า การทิ้งน้ำปนเปื้อนสารกัมมันตรังสีจากโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ในเมืองฟูกูชิมะลงในมหาสมุทรแปซิฟิกจะส่งผลกระทบต่อสุขภาพของมนุษย์เพียงเล็กน้อย
ทั้งนี้ กระทรวงอุตสาหกรรมญี่ปุ่นเปิดเผยว่า การทิ้งน้ำปนเปื้อนสารกัมมันตรังสีดังกล่าวภายในระยะเวลา 1 ปี จะมีค่าราว 0.052-0.62 ไมโครซีเวิร์ตในทะเล และ 1.3 ไมโครซีเวิร์ตในชั้นบรรยากาศ ซึ่งถือว่าต่ำมากเมื่อเทียบกับระดับ 2,100 ไมโครซีเวิร์ตที่มนุษย์สัมผัสในแต่ละวัน
ทางด้านนายโยชิอากิ ฮาราดะ รมว.สิ่งแวดล้อมของญี่ปุ่น กล่าวก่อนหน้านี้ว่า บริษัทโตเกียว อิเลกทริก พาวเวอร์ (TEPCO) ซึ่งเป็นผู้ดำเนินการโรงไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์ จะต้องทิ้งน้ำปนเปื้อนสารกัมมันตรังสีจากโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ในเมืองฟูกูชิมะลงในมหาสมุทรแปซิฟิก เนื่องจากทางบริษัทขาดแคลนสถานที่ที่จะกักเก็บปริมาณน้ำดังกล่าว
ขณะนี้ TEPCO ได้กักเก็บน้ำปนเปื้อนสารกัมมันตรังสีมากกว่า 1 ล้านตันจากท่อหล่อเย็นในโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ดังกล่าว นับตั้งแต่ที่ประสบความเสียหายจากเหตุแผ่นดินไหว และคลื่นยักษ์สึนามิในปี 2554
TEPCO ระบุว่า ทางบริษัทจะไม่มีสถานที่ซึ่งจะกักเก็บน้ำดังกล่าวภายในปี 2565
"ทางเลือกเดียวที่มีอยู่คือการทิ้งน้ำเหล่านี้ลงในทะเลเพื่อให้เกิดการเจือจาง" นายฮาราดะกล่าว
ทางด้านรัฐบาลญี่ปุ่นกำลังรอรายงานจากคณะผู้เชี่ยวชาญ ก่อนทำการตัดสินใจขั้นสุดท้ายเกี่ยวกับการกำจัดน้ำปนเปื้อนสารกัมมันตรังสี
อย่างไรก็ดี หากรัฐบาลญี่ปุ่นตัดสินใจทิ้งน้ำปนเปื้อนสารกัมมันตรังสีลงในทะเล ก็จะสร้างความไม่พอใจต่อเกาหลีใต้ ซึ่งเป็นประเทศเพื่อนบ้านของญี่ปุ่น และกำลังมีความขัดแย้งทางการค้า ขณะที่รัฐบาลเกาหลีใต้เรียกร้องให้ญี่ปุ่นจ่ายค่าชดเชยต่อแรงงานชาวเกาหลีที่ถูกบังคับให้ทำงานในโรงงานญี่ปุ่นในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2