องค์การสหประชาชาติ (UN) ได้เปิดตัวแผนรับมือด้านมนุษยธรรมระดับโลก (COVID-19 Global Humanitarian Response Plan) ฉบับล่าสุด ซึ่งใช้งบประมาณราว 6.69 พันล้านดอลลาร์ ที่ต้องใช้สำหรับช่วยเหลือกลุ่มประเทศที่มีความเสี่ยงสูงเพื่อรับมือกับการระบาดของไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ (โควิด-19)
ทั้งนี้ ตามแผนรับมือฉบับแรก ซึ่งเปิดตัวไปเมื่อวันที่ 25 มีนาคมที่ผ่านมา ได้กำหนดวงเงินไว้ที่ 2 พันล้านดอลลาร์
แผนรับมือฉบับล่าสุดดังล่าว ได้เพิ่มรายชื่อประเทศเพิ่มเติมเข้ามา ดังนี้ เบนิน จิบูตี ไลบีเรีย โมซัมบิก ปากีสถาน ฟิลิปปินส์ เซียร์ราลีโอน โตโก ซิมบับเว ส่งผลให้มียอดรวมทั้งสิ้น 63 ประเทศ
สำนักข่าวซินหัวรายงานว่า มาร์ค โลว์ค็อก รองเลขาธิการสหประชาชาติฝ่ายมนุษยชน ซึ่งเป็นผู้แถลงเรื่องแผนรับมือฉบับล่าสุด กล่าวว่า การช่วยเหลือกลุ่มประเทศที่มีความเสี่ยงสูงต้องเร่งดำเนินการโดยด่วน
รองเลขาธิการสหประชาชาติกล่าวในงานแถลงข่าวออนไลน์เกี่ยวกับแผนรับมือฉบับใหม่ว่า ขณะนี้ การระบาดของโควิด-19 ได้ส่งผลกระทบไปยังทุกประเทศและประชากรแทบทุกคน แต่กลุ่มประเทศที่ยากจนที่สุดในโลกจะได้รับความเสียหายอย่างรุนแรงและสั่นคลอนต่อเสถียรภาพมากที่สุด
นอกจากผลกระทบโดยตรงต่อสุขภาพแล้ว กลุ่มประเทศที่ยากจนที่สุดจะได้รับผลกระทบอย่างหนักหน่วงจากภาวะเศรษฐกิจถดถอยทั่วโลกและการใช้มาตรการต่างๆ ภายในประเทศ เพื่อสกัดการระบาดของเชื้อไวรัส
มาร์ค โลว์ค็อก กล่าวว่า "ขณะนี้ เราเห็นถึงปัญหาเรื่องรายได้ที่ลดลงและการว่างงาน อุปทานอาหารที่ลดลง สวนทางกับราคาที่สูงขึ้น เด็กๆ ขาดแคลนอาหารและวัคซีน และไม่ได้เรียนหนังสือ"
ขณะเดียวกัน รองเลขาธิการสหประชาชาติยังเตือนด้วยว่า กลุ่มประเทศที่ยากจนที่สุดในโลกหลายประเทศมีแนวโน้มว่า จะเผชิญกับช่วงการระบาดที่สูงที่สุดของโควิด-19 ซึ่งคาดว่า จะเกิดขึ้นเป็นครั้งแรกในอีกสามถึงหกเดือนข้างหน้านี้