COVID-19ผลสำรวจเผยคนไทยพอใจกับ WFH แม้มีชั่วโมงทำงานยาวนานขึ้น

ข่าวต่างประเทศ Friday May 29, 2020 12:55 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

ซิกน่า อินเตอร์เนชั่นแนล มาร์เก็ตส์ ในเครือบริษัทประกันซิกน่า เผยแพร่รายงานการศึกษาผลกระทบทั่วโลกจากโรคโควิด-19 ที่จัดทำขึ้นร่วมกับบริษัทกันตาร์ (Kantar) พบว่า คนไทยส่วนใหญ่รู้สึกว่าการทำงานจากที่บ้าน หรือ Work From Home ทำให้ชีวิตการทำงานของพวกเขาดีขึ้น โดย 90% ระบุว่าวันทำงานของพวกเขามีความยืดหยุ่นมากขึ้น และ 68% มองว่าการทำงานจากที่บ้านทำให้สามารถสื่อสารกับเพื่อนร่วมงานได้ดีขึ้นกว่าเดิม แม้ 65% ของผู้ตอบแบบสำรวจชาวไทยเผยว่า พวกเขาต้องใช้เวลาไปกับการทำงานยาวนานขึ้นก็ตาม

ทั้งนี้ ผลการศึกษาดังกล่าวได้จากการสำรวจความคิดเห็นของประชาชน 10,204 คน ในจีน ฮ่องกง สิงคโปร์ สเปน ไทย สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ สหราชอาณาจักร และสหรัฐอเมริกา ผ่านแบบสอบถามออนไลน์ ระหว่างเดือนม.ค.-เม.ย. ซึ่งเป็นช่วงที่โรคโควิด-19 กำลังแพร่ระบาด

จากการสำรวจในภาพรวมพบว่า ผู้คนทั่วโลกสามารถปรับตัวเข้ากับสถานการณ์วิกฤตได้ดีอย่างน่าประหลาดใจ โดยดัชนีความเป็นอยู่ทั่วโลกระหว่างเดือนม.ค.-เม.ย. ยังทรงตัวอยู่ที่ 62.5 จุด ขณะที่ดัชนีความเป็นอยู่ด้านการเงินและสังคมลดต่ำลง ส่วนดัชนีด้านการทำงานและครอบครัวยังคงที่หรือเพิ่มขึ้นเล็กน้อย

ในส่วนของการทำงานนั้น ผู้ตอบแบบสำรวจส่วนใหญ่มองว่า พวกเขามีความใกล้ชิดกับเพื่อนร่วมงานมากขึ้นในขณะที่เกิดวิกฤตการณ์ โดย 64% เห็นด้วยว่า การทำงานจากบ้าน และการใช้เทคโนโลยีต่าง ๆ เพื่อสื่อสารกันนั้น ช่วยปรับปรุงการเชื่อมต่อกับเพื่อนร่วมงาน เมื่อเทียบกับ 9% ที่ระบุว่า ไม่ได้ทำให้ดีขึ้น

ผลการสำรวจยังพบอีกว่า ผู้คนมีภาวะความเหงาลดลง โดยมีผู้ตอบแบบสำรวจเพียง 8% ที่ระบุว่า พวกเขารู้สึกห่างไกลจากคนอื่นในเดือนเม.ย. เทียบกับ 11% ในเดือนม.ค. และเมื่อถามว่า พวกเขารู้สึกใกล้ชิดกับผู้อื่นมากขึ้นหรือไม่ 73% ตอบว่าใช่ในเดือนเม.ย. เทียบกับ 69% ในเดือนม.ค. แม้หลายประเทศจะมีการประกาศใช้มาตรการล็อกดาวน์แบบเบ็ดเสร็จ

นอกจากนี้ การแพร่ระบาดของโควิด-19 ยังส่งผลให้ ความต้องการในเรื่องของบริการสุขภาพทางไกลเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว โดยผู้ตอบแบบสำรวจถึง 60% ระบุว่า พวกเขาสนใจใช้บริการดังกล่าว สำหรับบริการที่เป็นที่นิยมมากที่สุดก็คือ การดำเนินการนัดหมายเพื่อพบแพทย์ ซึ่งผู้ตอบแบบสำรวจ 52% ระบุว่า พวกเขาจะใช้ระบบอี-เฮลธ์ในการทำการนัดหมายในอนาคต และอีก 39% ระบุว่า พวกเขาจะเลือกใช้บริการสุขภาพทางไกลเพื่อการดูแลสุขภาพจิตในอนาคต


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ