ขณะที่ประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ยังคงเผชิญกับการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 นั้น หลายประเทศ อาทิ ไทย, สิงคโปร์และมาเลเซีย ก็กำลังเจอกับโรคระบาดที่เป็นโรคติดเชื้อไวรัสอีกตัวหนึ่งซึ่งได้แก่โรคไข้เลือดออก (Dengue fever) โดยโรคนี้เกิดจากเชื้อไวรัสเดงกี (Dengue virus) โดยมียุงลายเป็นตัวนำ เมื่อยุงลายกัดและดูดเลือดที่มีเชื้อจากผู้ป่วยแล้วไปกัดผู้ใด ก็จะถ่ายทอดเชื้อโรคนี้ให้กับผู้ที่ถูกกัดซึ่งเป็นได้ทั้งในเด็กและผู้ใหญ่
ดร.เหลียง โฮ นัม แพทย์ด้านโรคติดเชื้อของโรงพยาบาล Mount Elizabeth Novena ในสิงคโปร์เปิดเผยกับซีเอ็นบีซีว่า "เรากำลังพบการระบาดของโรคไข้เลือดออกในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้"
สำนักงานสิ่งแวดล้อมแห่งชาติของสิงคโปร์ (NEA) เปิดเผยเมื่อสัปดาห์ที่แล้วว่า สิงคโปร์จะมีผู้ป่วยโรคไข้เลือดออกสูงเกินสถิติต่อปีที่ทำไว้ 22,170 รายในปี 2556 โดย ณ วันที่ 6 ก.ค.ที่ผ่านมา มีรายงานว่าพบผู้ป่วยไข้เลือดออกแล้วถึง 15,500 รายในสิงคโปร์
ดร.เหลียงกล่าวว่า ยิ่งมีผู้ติดเชื้อไข้เลือดออกมากเท่าใด ก็มีโอกาสมากขึ้นที่ยุงซึ่งยังไม่ติดเชื้อจะไปกัดผู้ที่ติดเชื้อ ซึ่งจะทำให้โรคนี้แพร่ระบาดเพิ่มขึ้น
ด้านเจ้าหน้าที่สาธารณสุขของมาเลเซียได้ออกมาเตือนเมื่อเดือนที่แล้วว่า พบผู้ป่วยโรคไข้เลือดออกพุ่งขึ้นทั่วประเทศ
ส่วนเจ้าหน้าที่ด้านสาธารณสุขของอินโดนีเซียซึ่งเป็นประเทศที่มีประชากรมากที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้นั้น ได้เปิดเผยเมื่อปลายเดือนมิ.ย.ว่า พบผู้ป่วยโรคไข้เลือดออกแล้ว 68,000 รายทั่วประเทศ
ศูนย์ควบคุมและป้องกันโรค (CDC) ของสหรัฐระบุว่า ความเสี่ยงของโรคไข้เลือดออกในประเทศแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ส่วนใหญ่ยกเว้นสิงคโปร์นั้น จัดอยู่ในประเภท "เกิดขึ้นบ่อยและต่อเนื่อง"
การเพิ่มขึ้นของโรคไข้เลือดออกเกิดขึ้น ในขณะที่หลายๆ ประเทศกำลังรับมือกับการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ด้วยการใช้มาตรการล็อกดาวน์ และสั่งให้ประชาชนอยู่กับบ้าน ซึ่งกลับช่วยเพิ่มโอกาสที่จะทำให้มีผู้ป่วยโรคไข้เลือดออกเพิ่มขึ้น
"โชคร้าย ที่โรคไข้เลือดออกได้คู่หูที่ดีที่สุดนั่นก็คือมาตรการล็อกดาวน์" ดร.เหลียงกล่าว "เมื่อประชาชนต้องอยู่กับบ้าน (เพราะโควิด) มากขึ้น พวกเขาก็มีโอกาสมากขึ้นที่จะถูกยุงที่มีเชื้อโรคไข้เลือดออกกัด ซึ่งเป็นยุงที่เพาะพันธุ์อยู่ในแหล่งบริเวณบ้านเรือนของประชาชน"
ข้อมูลจากมหาวิทยาลัยจอห์น ฮอปกินส์ระบุว่า ในบรรดาประเทศเอเชียตะวันออกเฉียงใต้นั้น อินโดนีเซียมีผู้ป่วยโรคไข้เลือดออกสูงสุดถึง 70,736 ราย รองลงมาได้แก่ฟิลิปปินส์ 51,754 ราย และสิงคโปร์ 45,423 ราย
ดร.เหลียงระบุว่า เมื่อเปรียบเทียบอัตราการติดเชื้อไข้เลือดออกนั้น ผู้เชี่ยวชาญจะใช้การวัดที่เรียกว่า ความชุกของโรคไข้เลือดออกในเด็กอายุ 9 ปี
"ในสิงคโปร์นั้น เด็กอายุ 9 ปีเป็นไข้เลือดออกในอัตราที่น้อยกว่า 9% ขณะที่ในประเทศเพื่อนบ้านพบอัตราที่สูงกว่ามาก โดยในมาเลเซียพบเด็ก 9 ขวบเป็นไข้เลือดออกในอัตรา 30-40%, ไทยและอินโดนีเซีย อยู่ที่ 50-60% ส่วนในฟิลิปปินส์สูงถึง 90%"
สำหรับอาการของโรคไข้เลือดออกนั้น เมื่อเชื้อเข้าสู่ร่างกายประมาณ 5-8 วัน ผู้ป่วยจะเริ่มมีอาการของไข้เลือดออก คือไข้ขึ้นสูงอย่างรวดเร็ว ติดต่อกันประมาณ 3-7 วัน มีอาการหน้าแดง ปวดศีรษะ บางคนอาจปวดรอบกระบอกตา ปวดเมื่อยแขนขา ปวดกระดูก และอาจมีผื่นแดงตามตัว
นอกจากนี้ ผู้ติดเชื้ออาจจะมีอาการซึม เบื่ออาหาร ปวดท้อง อาเจียนเป็นเลือด หรือถ่ายอุจจาระเป็นเลือด
ในรายที่มีอาการรุนแรงมาก หลังจากมีไข้มา 3-4 วัน ไข้จะลดลงและอาการจะแย่ลงอย่างรวดเร็ว ผู้ป่วยอาจช็อคถึงขั้นเสียชีวิตได้ ถ้าหากไม่ได้รับการรักษาอย่างทันท่วงที