องค์การสหประชาชาติ (UN) เปิดเผยในรายงานคาดการณ์ฉบับล่าสุดว่า จำนวนประชากรที่เผชิญกับปัญหาความยากจนขั้นรุนแรงทั่วโลกจะเพิ่มขึ้นในปีนี้ ซึ่งจะทำสถิติเพิ่มขึ้นเป็นครั้งแรกในรอบ 22 ปี เนื่องจากผลกระทบจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19
สำนักงานกิจการเศรษฐกิจและสังคมของ UN เปิดเผยรายงาน "Sustainable Development Goals Report 2020" โดยระบุว่า ประชากรที่มีรายได้ต่ำกว่า 1.90 ดอลลาร์ต่อวันคาดว่าจะมีสัดส่วนเพิ่มขึ้นจาก 8.2% ในปีที่แล้ว มาเป็น 8.8% ในปีนี้
รายงานระบุว่า อัตราความยากจนขั้นรุนแรงคาดว่าจะพุ่งขึ้นแตะระดับสูงสุดเป็นครั้งแรกนับตั้งแต่ปี 2541 ซึ่งในขณะนั้นอัตราความยากจนขั้นรุนแรงเพิ่มขึ้น 0.4% สู่ระดับ 29.7% หลังเกิดวิกฤตการเงินในเอเชีย โดยเริ่มจากประเทศไทยและส่งผลกระทบไปทั่วภูมิภาค
ทั้งนี้ UN คาดว่า จำนวนประชากรที่จะประสบปัญหาความยากจนขั้นรุนแรงจะเพิ่มขึ้นจากที่เคยคาดการณ์ไว้เบื้องต้นที่ 7.7% ก่อนเกิดการระบาดใหญ่ โดยระบุว่าอาจมีประชากรทั่วโลกถึง 71 ล้านคนต้องถูกผลักดันให้กลับเข้าสู่ภาวะความยากจนขั้นรุนแรงในปีนี้ เนื่องจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ได้สร้างความเสียหายอย่างเลวร้ายที่สุดต่อระบบเศรษฐกิจนับตั้งแต่เกิดภาวะเศรษฐกิจตกต่ำครั้งใหญ่ หรือ Great Depresstion ในช่วงทศวรรษที่ 1930
นอกจากนี้ UN ยังยอมรับด้วยว่า ประเทศทั่วโลกยังคงไม่สามารถทำตามเป้าหมายการขจัดความยากจนขั้นรุนแรงให้หมดไปภายในปี 2030 ตามที่ระบุไว้ในเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development Goals: SDGs) ซึ่งมีการกำหนดไว้ก่อนที่โควิด-19 จะแพร่ระบาด