นักวิจัยปลื้มจีนเล็งลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกช่วยลดโลกร้อน 0.3 องศาเซลเซียส

ข่าวต่างประเทศ Thursday September 24, 2020 14:18 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นักวิจัยของกลุ่ม Climate Action Tracker (CAT) กล่าวว่า การที่ประธานาธิบดีสี จิ้นผิงของจีนให้คำมั่นว่าจีนจะบรรลุเป้าหมายลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดอ็อกไซด์ (CO2) ลงเป็นศูนย์ให้ได้ก่อนปี 2603 นั้น ถือเป็นการผลักดันนโยบายลดโลกร้อนที่มีความสำคัญมากที่สุดในรอบหลายปี และหากจีนสามารถบรรลุเป้าหมายดังกล่าวได้ ก็จะช่วยให้ความร้อนทั่วโลก ลดลงราว 0.2-0.3 องศาเซลเซียสในศตวรรษนี้

นักวิจัยของ CAT ระบุว่า คำประกาศอันน่าประหลาดใจของปธน.สีในที่ประชุมองค์การสหประชาชาติ (UN) เมื่อวันอังคารที่ผ่านมานั้น นับเป็นครั้งแรกทีจีนซึ่งเป็นประเทศที่ปล่อยก๊าซ CO2 มากที่สุดในโลกได้ออกมาให้คำมั่นสัญญาว่า จีนจะบรรลุเป้าหมายในการสร้างสมดุลคาร์บอน (carbon neutrality) โดยจะลดการปล่อย CO2 ลงเป็นศูนย์ให้ได้ก่อนปี 2603

"คำมั่นสัญญาดังกล่าวจะนำไปสู่การลดภาวะโลกร้อนครั้งใหญ่ที่สุดเท่าที่ประเทศต่างๆ ทั่วโลกเคยให้คำมั่นสัญญาไว้ นี่เป็นคำประกาศเกี่ยวกับนโยบายโลกร้อนที่สำคัญที่สุดในรอบอย่างน้อย 5 ปี" นิคลาส โฮห์เน่ จาก New Climate Institute ซึ่งเป็น 1 ใน 2 องค์กรที่สนับสนุน CAT ระบุ

รายงานของ CAT ระบุว่า ประเทศต่างๆ เกือบ 200 ประเทศได้ให้คำมั่นสัญญาว่าจะลดการปล่อยก๊าซ CO2 ภายใต้ความตกลงปารีสว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศของ UN ในปี 2558 ซึ่งหากประเทศเหล่านี้ทำตามคำมั่นสัญญา ความร้อนของอุณหภูมิเฉลี่ยผิวโลกจะอยู่ที่ระดับราว 2.7 องศาเซลเซียสภายในปี 2643

นอกจากนี้ CAT ยังระบุว่า หากจีนทำตามคำมั่นสัญญาว่าจะลดการปล่อย CO2 ลงเหลือศูนย์ภายในปี 2603 ก็จะทำให้ความร้อนของอุณหภูมิเฉลี่ยผิวโลกอยู่ที่ประมาณ 2.4-2.5 องศาเซลเซียส

ทั้งนี้ ปธน.สีได้ประกาศผ่านทางวิดีโอคอนเฟอเรนซ์ในการประชุม UN เมื่อวันอังคารที่ผ่านมาว่า "จีนจะยกระดับการดำเนินงานตามเป้าหมายเพื่อลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก (Intended Nationally Determined Contributions - INDCs) ด้วยการบังคับใช้นโยบาย และมาตรการต่างๆ ที่มีประสิทธิภาพ"

ปธน.สียังกล่าวด้วยว่า มนุษยชาติไม่อาจเพิกเฉยกับสัญญาณเตือนจากธรรมชาติได้อีกต่อไป และไม่อาจใช้ทรัพยากรโดยไม่มีการลงทุนเพื่อการอนุรักษ์ ตลอดจนการใช้ประโยชน์จากทรัพยากรโดยปราศจากการฟื้นฟู

นอกจากนี้ ปธน.สียังเรียกร้องให้ทุกประเทศร่วมกันผลักดันการพัฒนาที่มีนวัตกรรม เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมและเปิดกว้าง โดยใช้โอกาสครั้งประวัติศาสตร์จากการปฎิวัติทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีรอบใหม่ และการเปลี่ยนแปลงด้านอุตสาหกรรม รวมถึงการบรรลุเป้าหมายการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมหลังยุคโควิด-19


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ