แหล่งข่าวเปิดเผยว่า รัฐบาลญี่ปุ่นมีแผนที่จะทิ้งน้ำปนเปื้อนสารกัมมันตรังสีจากโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ในเมืองฟูกูชิมะลงสู่ทะเล แม้หลายฝ่ายแสดงความห่วงใยเกี่ยวกับผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม
คาดว่ารัฐบาลญี่ปุ่นจะประกาศการตัดสินใจดังกล่าวอย่างเป็นทางการในเดือนนี้ หลังจากที่มีการถกเถียงในเรื่องนี้นานกว่า 7 ปี
อย่างไรก็ดี การเริ่มทิ้งน้ำปนเปื้อนสารกัมมันตรังสีลงสู่ทะเลจะยังไม่เกิดขึ้นในเร็วๆนี้ เนื่องจากจะต้องใช้เวลาราว 2 ปีสำหรับโครงการก่อสร้างที่เกี่ยวข้องกับเรื่องดังกล่าว รวมทั้งจะต้องมีการเข้าตรวจสอบจากสำนักงานกำกับกฎระเบียบด้านนิวเคลียร์ (NRA)
ก่อนหน้านี้ อุตสาหกรรมประมงของญี่ปุ่นเรียกร้องให้รัฐบาลระงับแผนการของโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ในเมืองฟูกูชิมะที่จะทิ้งน้ำปนเปื้อนสารกัมมันตรังสีลงสู่ทะเล เนื่องจากวิตกว่าจะส่งผลกระทบต่อการประมง โดยจะทำให้ประเทศต่างๆสั่งห้ามนำเข้าผลิตภัณฑ์ทางการประมงจากญี่ปุ่น
ทางด้านกระทรวงอุตสาหกรรมระบุว่า รัฐบาลจะทำการตัดสินใจในเรื่องดังกล่าวในไม่ช้า โดยจะคำนึงถึงความวิตกของอุตสาหกรรมประมง
อย่างไรก็ดี ทางการญี่ปุ่นระบุก่อนหน้านี้ว่า การทิ้งน้ำปนเปื้อนสารกัมมันตรังสีจากโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ในเมืองฟูกูชิมะลงในมหาสมุทรแปซิฟิกจะส่งผลกระทบต่อสุขภาพของมนุษย์เพียงเล็กน้อย โดยกระทรวงอุตสาหกรรมญี่ปุ่นเปิดเผยว่า การทิ้งน้ำปนเปื้อนสารกัมมันตรังสีดังกล่าวภายในระยะเวลา 1 ปี จะมีค่าไมโครซีเวิร์ตในทะเลเพียง 0.052-0.62 หน่วย และ 1.3 หน่วยในชั้นบรรยากาศ ซึ่งถือว่าต่ำมากเมื่อเทียบกับระดับ 2,100 ไมโครซีเวิร์ตที่มนุษย์สัมผัสในแต่ละวัน
ทางด้านกระทรวงสิ่งแวดล้อมของญี่ปุ่น ระบุว่า บริษัทโตเกียว อิเลกทริก พาวเวอร์ (TEPCO) ซึ่งเป็นผู้ดำเนินการโรงไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์ จำเป็นต้องทิ้งน้ำปนเปื้อนสารกัมมันตรังสีจากโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ในเมืองฟูกูชิมะลงในมหาสมุทรแปซิฟิก เนื่องจากทางบริษัทขาดแคลนสถานที่ในการกักเก็บปริมาณน้ำที่ผ่านการบำบัดดังกล่าว
ขณะนี้ TEPCO ได้กักเก็บน้ำปนเปื้อนสารกัมมันตรังสีมากกว่า 1 ล้านตันจากท่อหล่อเย็นในโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ฟูกูชิมะ นับตั้งแต่ที่ประสบความเสียหายจากเหตุแผ่นดินไหว และคลื่นยักษ์สึนามิในปี 2554
TEPCO ระบุว่า ทางบริษัทจะไม่มีสถานที่ในการกักเก็บน้ำบำบัดดังกล่าวภายในปี 2565