สำนักข่าวบีบีซีรายงานว่า สหภาพยุโรป (EU) ได้ยืนยันเมื่อวานนี้ (29 ม.ค.) ในการใช้มาตรการควบคุมการส่งออกวัคซีนต้านโรคโควิด-19 ที่ผลิตขึ้นภายใน EU ท่ามกลางความขัดแย้งเกี่ยวกับการส่งมอบซึ่งทำให้วัคซีนขาดแคลน
ทั้งนี้ กลไกความโปร่งใส (transparency mechanism) ให้อำนาจประเทศต่างๆ ใน EU ที่จะปฏิเสธการอนุญาตส่งออกวัคซีน หากบริษัทผลิตวัคซีนไม่ปฏิบัติตามสัญญาการส่งมอบวัคซีนที่มีอยู่กับทาง EU
"การปกป้องและความปลอดภัยของพลเมืองของเราเป็นสิ่งสำคัญอันดับแรก และปัญหาที่เราเผชิญในขณะนี้ ทำให้เราไม่มีทางเลือก นอกจากต้องดำเนินการควบคุมการส่งออกวัคซีนที่ผลิตใน EU" คณะกรรมาธิการยุโรป (EC) ระบุ
มาตรการควบคุมการส่งออกวัคซีนของ EU จะส่งผลกระทบต่อราว 100 ประเทศทั่วโลก รวมถึงสหราชอาณาจักร, สหรัฐ, แคนาดา และออสเตรเลีย แต่อีกหลายประเทศรวมถึงประเทศที่ยากจนจะได้รับการยกเว้น
EU ยืนยันว่า การควบคุมการส่งออกวัคซีนนั้นเป็นมาตรการเพียงชั่วคราว และไม่ใช่การห้ามส่งออกวัคซีน ขณะที่องค์การอนามัยโลก (WHO) เป็นหนึ่งในกลุ่มที่ออกมาวิพากษ์วิจารณ์มาตรการดังกล่าวของ EU โดยระบุว่า มาตรการดังกล่าวอาจจะส่งผลกระทบไปทั่วโลก
มาตรการควบคุมการส่งออกวัคซีนเกิดขึ้น หลังจากบริษัทแอสตร้าเซนเนก้าของอังกฤษเปิดเผยว่า วัคซีนต้านโรคโควิด-19 ที่ทางบริษัทพัฒนาร่วมกับมหาวิทยาลัยอ็อกซ์ฟอร์ด จะมีการส่งมอบไปยังสหภาพยุโรป (EU) ต่ำกว่าเป้าหมายไปจนถึงปลายเดือนมี.ค. อันเนื่องจากปัญหาด้านการผลิต โดยคาดว่าจะมีการลดปริมาณการส่งมอบวัคซีนลง 60% เหลือเพียง 31 ล้านโดส
ด้านบริษัทไฟเซอร์ อิงค์ของสหรัฐระบุเช่นกันว่า ทางบริษัทจะลดการส่งมอบวัคซีนต้านโควิด-19 เหลือเพียง 50% ให้แก่ยุโรป โดยจะกระทบการส่งมอบในช่วงสิ้นเดือนนี้ไปจนถึงต้นเดือนหน้า