การศึกษาเบื้องต้นชี้วัคซีนแอสตร้าเซนเนก้าป้องกันโควิดสายพันธุ์แอฟริกาใต้ได้อย่างจำกัด

ข่าวต่างประเทศ Sunday February 7, 2021 13:25 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

สำนักข่าวบีบีซีรายงานว่า การทดสอบเบื้องต้นชี้ให้เห็นว่า วัคซีนป้องกันโควิด-19 ที่พัฒนาโดยบริษัทแอสตร้าเซนเนก้าและมหาวิทยาลัยออกซ์ฟอร์ดนั้น ให้การป้องกันที่จำกัดในผู้ป่วยติดเชื้อโควิด-19 สายพันธุ์แอฟริกาใต้ที่มีอาการไม่รุนแรงและอาการปานกลาง อย่างไรก็ตาม แอสตร้าเซนเนก้าแสดงความเชื่อมั่นว่าวัคซีนของบริษัทสามารถป้องกันโควิด-19 สายพันธุ์แอฟริกาในผู้ป่วยที่มีอาการรุนแรงได้

ข้อมูลดังกล่าวได้รับการเปิดเผยครั้งแรกโดยหนังสือพิมพ์ไฟแนนเชียล ไทม์ส ก่อนจะได้รับการยืนยันจากทางแอสตร้าเซนเนก้า โดยข้อมูลดังกล่าวได้จากการศึกษาในกลุ่มผู้ป่วย 2,000 คน อย่างไรก็ตาม ข้อมูลดังกล่าวยังไม่ได้รับการตรวจทานโดยผู้เชี่ยวชาญแต่อย่างใด

โฆษกของแอสตร้าเซนเนก้ากล่าวว่า ยังไม่สามารถยืนยันได้ว่าวัคซีนป้องกันโควิด-19 ของบริษัทจะสามารถป้องกันผู้ป่วยติดเชื้อโควิด-19 สายพันธุ์แอฟริกาใต้ที่มีอาการรุนแรงและต้องเข้ารับการรักษาตัวในโรงพยาบาลได้หรือไม่ เนื่องจากผู้ที่เกี่ยวข้องในการศึกษาส่วนใหญ่เป็นผู้ใหญ่หรือหนุ่มสาวที่มีสุขภาพดี

อย่างไรก็ตาม แอสตร้าเซนเนก้าแสดงความเชื่อมั่นว่าวัคซีนป้องกันโควิด-19 ของบริษัทจะสามารถแสดงประสิทธิภาพในผู้ป่วยที่มีอาการรุนแรงได้ เนื่องจากใช้การสร้างแอนติบอดีที่เป็นกลางคล้ายกับวัคซีนป้องกันโควิด-19 ของบริษัทอื่น

ข้อมูลดังกล่าวได้รับการเปิดเผยออกมาหลังจากข้อมูลใหม่ที่มีการเปิดเผยในวันศุกร์ (5 ก.พ.) ระบุว่า วัคซีนต้านโรคโควิด-19 ที่พัฒนาโดยบริษัทแอสตร้าเซนเนก้าและมหาวิทยาลัยออกซ์ฟอร์ดนั้น มีประสิทธิภาพในการป้องกันไวรัสโควิด-19 สายพันธุ์ใหม่ที่พบในอังกฤษในระดับเดียวกับที่ป้องกันไวรัสโควิดสายพันธุ์เดิม

ไวรัสสายพันธุ์ใหม่ซึ่งมีชื่อว่า B.1.1.7 นั้นมีการกลายพันธุ์เป็นจำนวนมากผิดปกติ และแพร่เชื้อได้อย่างรวดเร็ว นอกจากนี้ ยังมีหลักฐานว่า ไวรัสสายพันธุ์ใหม่นี้ อาจทำให้ผู้ติดเชื้อเสียชีวิตมากกว่าสายพันธุ์เดิม วัคซีนโควิดของแอสตร้าเซนเนก้าและมหาวิทยาลัยออกซ์ฟอร์ดมีประสิทธิภาพ 76% ในการป้องกันการติดเชื้อที่มีอาการเป็นเวลา 3 เดือนหลังจากฉีดวัคซีน 1 โดส

ส่วนผลการวิจัยอีกฉบับบ่งชี้ว่า การแพร่เชื้อโควิด-19 ในอังกฤษ ลดลง 67% หลังจากที่มีการฉีดวัคซีนโดสแรกในอังกฤษ


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ