ทีมวิจัยจากสถาบันวิจัยคลาลิทของอิสราเอลและมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ดรายงานถึงผลการศึกษาประสิทธิภาพวัคซีนของไฟเซอร์ อิงค์และบิออนเทค ซึ่งสามารถป้องกันโควิด-19 ได้ในระดับสูง
ผลการศึกษาที่ตีพิมพ์ในวารสารการแพทย์ New England Journal of Medicine ระบุว่า การศึกษาดังกล่าวเป็นการติดตามผลจากประชาชนเกือบ 1.2 ล้านคนในอิสราเอล โดยพบว่าวัคซีนที่ฉีดให้กับประชาชน 596,618 คน ครบทั้ง 2 โดส ในช่วงวันที่ 20 ธ.ค. 2563 - 1 ก.พ. 2564 นั้นสามารถป้องกันไวรัสโควิด-19 ได้ถึง 94% โดย 1 ใน 4 ของประชาชนกลุ่มนี้มีอายุมากกว่า 60 ปี
นักวิจัยได้เปรียบเทียบผลการศึกษาระหว่างผู้ที่ฉีดและไม่ได้ฉีดวัคซีน ทำให้ได้ผลการวิเคราะห์ที่ชัดเจนซึ่งบ่งชี้ได้ว่า ประสิทธิภาพของวัคซีนจากไฟเซอร์-บิออนเทคในการทดลองทางคลินิกซึ่งให้ผลที่ดีมากก่อนหน้านี้ มีโอกาสประสบความสำเร็จเมื่อนำไปฉีดจริง
ขณะที่ผู้เชี่ยวชาญกลุ่มอื่นกล่าวว่า หากมีการฉีดวัคซีนในวงกว้างก็ย่อมมีโอกาสที่จะยับยั้งโรคโควิด-19 ได้
"วัคซีนนี้เป็นหนึ่งในวัคซีนต้านโควิด-19 ที่ทำให้เรามีความหวังเรื่องการสร้างภูมิคุ้มกันหมู่" ไรนา แมคอินไทร์ ศาสตราจารย์ด้านความปลอดภัยทางชีวภาพแห่งมหาวิทยาลัยนิวเซาท์เวลส์ในซิดนีย์กล่าว
ในแง่ของประสิทธิภาพวัคซีนที่ฉีดในอิสราเอล ศาสตราจารย์ไรนากล่าวว่า การฉีดวัคซีนให้ประชาชนในสัดส่วน 60-70% เพียงพอต่อการป้องกันโรคโควิด-19 รวมถึงลดอัตราการป่วยและเสียชีวิต ซึ่งจะช่วยให้ประชาชนสามารถกลับไปใช้ชีวิตได้ตามปกติ