นายฟิลลิป เลน หัวหน้าคณะนักเศรษฐศาสตร์ของธนาคารกลางยุโรป (ECB) เปิดเผยกับสถานีโทรทัศน์ซีเอ็นบีซีว่า มาตรการเยียวยาผลกระทบของโรคโควิด-19 มูลค่า 1.9 ล้านล้านดอลลาร์ของสหรัฐนั้น จะกลายเป็นตัวขับเคลื่อนที่สำคัญของเศรษฐกิจโลกอย่างแน่นอน โดยคาดว่ามาตรการดังกล่าวจะส่งผลเชิงบวกให้เศรษฐกิจของยูโรโซนฟื้นตัวตามไปด้วย
ประธานาธิบดีโจ ไบเดนได้ลงนามในกฎหมายกระตุ้นเศรษฐกิจวงเงิน 1.9 ล้านล้านดอลลาร์เมื่อวันที่ 11 มี.ค.ที่ผ่านมา โดยครอบคลุมถึงการจัดสรรงบประมาณ 4 แสนล้านดอลลาร์เพื่อแจกจ่ายให้กับชาวอเมริกันโดยตรงคนละ 1,400 ดอลลาร์ ทำให้มีการคาดการณ์ว่า มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจซึ่งได้เริ่มดำเนินการแล้วนั้น จะช่วยส่งแรงหนุนให้เศรษฐกิจโลกฟื้นตัวขึ้นได้
องค์การเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา (OECD) ได้เผยแพร่รายงานคาดการณ์ในเดือนนี้ว่า มาตรการเยียวยาของสหรัฐจะส่งผลให้เศรษฐกิจโลกขยายตัวขึ้น 1% และคาดว่าประเทศในยูโรโซนก็จะได้รับอานิสงส์ด้วยเช่นกัน
"เราจะได้รับผลกระทบเชิงบวกจากฝั่งสหรัฐอย่างแน่นอน การใช้มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจอย่างมากในสหรัฐเช่นนี้ จะส่งแรงหนุนให้เศรษฐกิจทั่วโลกกระเตื้องขึ้น ซึ่งจะกระตุ้นภาคการส่งออกของยูโรโซนอีกทอดหนึ่ง" นายเลนระบุ
เศรษฐกิจของประเทศยูโรโซนส่วนใหญ่นั้นขับเคลื่อนโดยภาคการส่งออก ซึ่งได้รับผลกระทบอย่างหนักจากสถานการณ์แพร่ระบาดของโรคโควิด-19 โดยข้อมูลที่เผยแพร่ออกมาเมื่อเดือนม.ค.ระบุว่า รายได้ของภาคการส่งออกของยุโรปนั้นหดตัวลง 11.4% ในช่วง 1 ปีที่ผ่านมา
"แน่นอนว่าผลกระทบเชิงบวกในช่วงแรกจะเห็นได้ชัดเจนเป็นพิเศษในตลาดการเงิน แต่หลังจากที่มีการใช้มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจได้สักระยะหนึ่ง ก็จะเห็นได้ว่ามาตรการดังกล่าวจะกลายเป็นตัวขับเคลื่อนสำคัญให้กับเศรษฐกิจโลก" นายเลนกล่าวเสริม