บรรดาผู้นำของ 23 ประเทศและองค์การอนามัยโลก (WHO) ได้ร่วมกันสนับสนุนแนวคิดในการทำสนธิสัญญาระหว่างประเทศที่จะช่วยโลกในการรับมือกับภาวะฉุกเฉินด้านสุขภาพในอนาคต เช่น การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ที่กำลังส่งผลกระทบอย่างหนักทั่วโลกในขณะนี้
นายชาร์ลส์ มิเชล ประธานคณะมนตรียุโรปได้เสนอแนวคิดดังกล่าวในระหว่างการประชุมสุดยอด G20 เมื่อเดือนพ.ย.ที่ผ่านมา ซึ่งเป็นสนธิสัญญาที่จะรับรองการเข้าถึงวัคซีน, ยา และการวินิจฉัยโรคได้อย่างเท่าเทียมและเป็นสากล
รายงานระบุว่า แนวคิดดังกล่าวได้รับการสนับสนุนอย่างเป็นทางการจากผู้นำประเทศฟิจิ, โปรตุเกส, โรมาเนีย, อังกฤษ, รวันดา, เคนยา, ฝรั่งเศส, เยอรมนี, กรีซ, เกาหลี, ชิลี, คอสตาริกา, แอลเบเนีย, แอฟริกาใต้, ตรินิแดดและโตเบโก, เนเธอร์แลนด์, ตูนิเซีย, เซเนกัล, สเปน, นอร์เวย์, เซอร์เบีย, อินโดนีเซีย, ยูเครน และ WHO
บรรดาผู้นำระบุในบทความแสดงความคิดเห็นร่วมกันว่า "จะเกิดการแพร่ระบาดอื่นๆ รวมถึงภาวะฉุกเฉินทางสาธารณสุขครั้งใหญ่อีก คงไม่มีรัฐบาลหรือหน่วยงานพหุภาคีใดที่สามารถจัดการกับภัยคุกคามนี้ได้โดยลำพัง"
ทั้งนี้ เป้าหมายหลักของสนธิสัญญาดังกล่าวคือ การเสริมสร้างความสามารถในการปรับตัวของโลกต่อการแพร่ระบาดในอนาคตผ่านระบบแจ้งเตือนที่ดีขึ้น, การแบ่งปันข้อมูล, การวิจัย รวมถึงการผลิตและการแจกจ่ายวัคซีน, ยา, การวินิจฉัยโรค และอุปกรณ์ป้องกันส่วนบุคคล