นายจู หมิน อดีตรองผู้อำนวยการกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) ระบุว่า เศรษฐกิจจีนอาจต้องพบกับอุปสรรคด้านโครงสร้างครั้งใหญ่ หลังจากในปีที่แล้วรัฐบาลจีนกลับไปใช้แนวทางเดิมในการกระตุ้นเศรษฐกิจด้วยการส่งเสริมการลงทุน
"ในปี 2564 การปฏิรูปเชิงโครงสร้างเป็นสิ่งสำคัญอันดับหนึ่งสำหรับจีน หากเรายังใช้แนวทางเดิมของเมื่อปี 2563 ก็มีความเสี่ยงที่เราจะกลับไปสู่กลไกเศรษฐกิจแบบเดิม ซึ่งเป็นสิ่งที่เราไม่อยากให้เกิดขึ้น" นายจูกล่าวในการประชุม Boao Forum for Asia (BFA) ที่มณฑลไห่หนานเมื่อวานนี้
นายจูยังกล่าวเสริมด้วยว่า การที่เศรษฐกิจจีนฟื้นตัวจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ได้อย่างแข็งแกร่งนั้น ส่วนใหญ่เป็นผลมาจากการลงทุนและยอดการส่งออกที่พุ่งสูงขึ้น ในขณะที่ยอดการบริโภคนั้นยังชะลอตัวอยู่ ซึ่งขัดกับความพยายามของจีนในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา ที่มีเป้าหมายเพื่อเปลี่ยนแปลงเศรษฐกิจของประเทศให้มีการขับเคลื่อนด้วยการบริโภค
IMF และสถาบันการเงินอื่นๆ ได้ให้ความเห็นว่า การที่จีนพึ่งพาการลงทุนในด้านโครงสร้างพื้นฐานและอสังหาริมทรัพย์อย่างหนักนั้น ได้ทำให้ระบบเศรษฐกิจของจีนขาดความสมดุล โดยสถาบันการเงินเหล่านี้ได้แนะนำให้รัฐบาลจีนเร่งส่งเสริมให้ผู้บริโภคมีการใช้จ่ายมากขึ้น
ส่วนในการประชุมอีกวาระหนึ่งซึ่งจัดขึ้นเมื่อวานนี้เช่นกัน นายจูเปิดเผยว่ายอดเกินดุลการค้าของจีนมีแนวโน้มสูงขึ้นในปีนี้ เนื่องจากยอดการส่งออกยังคงแข็งแกร่งโดยได้แรงหนุนจากห่วงโซ่อุปทานที่ฟื้นตัวอย่างรวดเร็ว ซึ่งจะเป็นผลดีสำหรับเศรษฐกิจจีน แต่ในขณะเดียวกันก็จะสร้างแรงกดดันให้กับประเทศอื่นๆ ด้วยเช่นกัน