คณะนักวิจัยนานาชาติที่นำโดยดร.ยาคูท ฟาติมาจากมหาวิทยาลัยเจมส์คุกในออสเตรเลียระบุว่า พนักงานกะกลางคืนเสี่ยงต่อการติดเชื้อโควิด-19 มากกว่าพนักงานกะกลางวันเกือบสองเท่า
ข้อมูลที่นักวิจัยค้นพบนั้นตีพิมพ์ในวารสาร Journal of Sleep Research โดยใช้ข้อมูลทางการแพทย์ที่รวบรวมจากอาสาสมัคร 500,000 คนที่เข้าร่วมในโครงการ Bio Bank หรือธนาคารทรัพยากรชีวภาพของอังกฤษ ซึ่งเก็บรวบรวมข้อมูลทางการแพทย์และพันธุกรรมของอาสาสมัคร
ดร.ฟาติมาให้สัมภาษณ์กับหนังสือพิมพ์บริสเบนไทมส์ว่า การทำงานกะกลางคืนเป็นที่ทราบกันดีว่า อาจรบกวนการทำงานของนาฬิกาชีวภาพ (circadian rhythm) ของมนุษย์ ซึ่งอาจนำไปสู่การติดเชื้อได้ง่าย
ดร.ฟาติมากล่าวด้วยว่า "นักวิจัยคนอื่นๆ ได้เสนอทฤษฎีที่ระบุว่า การรบกวนนาฬิกาชีวภาพเนื่องจากการทำงานกะกลางคืนนั้น อาจทำให้บางคนมีความเสี่ยงมากขึ้นที่จะติดเชื้อโควิด-19"
"กรณีนี้อาจเป็นสาเหตุที่ทำให้ระดับของฮอร์โมนเมลาโทนินลดลง และส่งผลให้ระบบภูมิคุ้มกันของร่างกายทำงานด้อยลง"
ดร.ฟาติมาให้สัมภาษณ์กับสำนักข่าวซินหัวว่า ประเทศอื่นๆ ได้มีการทำวิจัยในประเด็นเดียวกันนี้ด้วย รวมถึงในสหรัฐ
"เราคาดว่า งานวิจัยที่ทำกันอยู่ในประเทศอื่นจะได้ข้อค้นพบในลักษณะเดียวกัน" ดร.ฟาติมากล่าวและเพิ่มเติมว่า "เมื่อข้อมูลที่ค้นพบกระจ่างชัด เราหวังว่าจะได้ใช้ข้อมูลนั้นเป็นแนวทางเพื่อจัดการปัญหาต่างๆ เช่น การจัดลำดับความสำคัญในการฉีดวัคซีน"