หนังสือพิมพ์ไฟแนนเชียล ไทม์สรายงานว่า ติ๊กต็อก (TikTok) ถูกฟ้องเรียกเงินค่าปรับหลายพันล้านปอนด์ และถูกตั้งข้อกล่าวหาว่าเก็บข้อมูลส่วนบุคคลของเยาวชนจำนวนหลายล้านคนในอังกฤษและยุโรปโดยไม่ได้รับอนุญาต
การฟ้องร้องครั้งนี้ได้รับการสนับสนุนจากนางแอนน์ ลองฟิลด์ อดีตสมาชิกคณะกรรมาธิการด้านเด็กและเยาวชนแห่งประเทศอังกฤษ โดยระบุว่าติ๊กต็อกทำการเก็บข้อมูลส่วนบุคคลของเยาวชนระหว่างใช้แอปพลิเคชัน เช่น หมายเลขโทรศัพท์, รูปภาพ, วิดีโอ, ตำแหน่งที่อยู่ และข้อมูลอัตลักษณ์บุคคล จากนั้นได้ขายข้อมูลเหล่านี้ให้กับบุคคลที่สามซึ่งไม่เปิดเผยตัวตน
"เราคิดว่าทั้งผู้ปกครองและเยาวชนจะรู้สึกตกใจเป็นอย่างมาก เรื่องนี้น่ากังวลยิ่งขึ้นเมื่อคำนึงถึงผู้ใช้แอปโซเชียลมีเดียนี้จำนวนมากที่เป็นกลุ่มครอบครัวและเยาวชนยุคใหม่ จากข้อมูลของ Ofcom ในกลุ่มเยาวชนอายุ 8-12 ปี มีการใช้งานแอปติ๊กต็อกสูงถึง 44% และเราคาดว่ามีเยาวชนราว 3.5 ล้านคนในอังกฤษที่ถูกละเมิดข้อมูลส่วนบุคคล และอีกจำนวนมากในประเทศอื่นๆ ในยุโรป" นางลองฟีลด์กล่าว
ในสำนวนคดีระบุว่า ติ๊กต็อกทำการเก็บข้อมูลส่วนบุคคลของเยาวชนโดยไม่ได้รับความยินยอมอย่างถูกต้อง (กรณีเยาวชนยังไม่บรรลุนิติภาวะจะต้องได้รับการยินยอมจากผู้ปกครอง) และไม่มีความโปร่งใส โดยนายทอม เซาธ์เวลล์ ทนายความจากสำนักกฎหมาย Scott + Scott และตัวแทนฝ่ายโจทก์ในการฟ้องร้องครั้งนี้ระบุว่า การกระทำดังกล่าวเป็นการละเมิดกฎหมายคุ้มครองข้อมูลของอังกฤษและสหภาพยุโรปอย่างร้ายแรง
เหตุการณ์นี้ไม่ใช่ครั้งแรกที่นโยบายการเก็บข้อมูลของติ๊กต็อกทำให้เกิดปัญหา โดยในปี 2562 ติ๊กต็อกซึ่งเป็นของบริษัทไบต์แดนซ์สัญชาติจีนนั้นได้ถูกคณะกรรมาธิการการค้าของรัฐบาลกลางสหรัฐ (FTC) บังคับปรับเป็นเงินจำนวน 5.7 ล้านดอลลาร์จากข้อกล่าวหาว่ามีการเก็บข้อมูลส่วนบุคคลของเยาวชนโดยผิดกฎหมาย นอกจากนี้ แอปติ๊กต็อกยังได้ถูกระงับการใช้งานชั่วคราวในอินเดียด้วยเหตุผลว่าแอปนั้น "ทำให้วัฒนธรรมเสื่อมทรามลงและสนับสนุนให้เกิดการเผยแพร่สื่อลามกอนาจาร" และได้หยุดให้บริการให้อินเดียในเวลาต่อมา