"สี จิ้นผิง" เตรียมกล่าวสุนทรพจน์ในการประชุมสุดยอดด้านสภาพภูมิอากาศซึ่งจัดโดยสหรัฐ

ข่าวต่างประเทศ Wednesday April 21, 2021 13:29 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

ประธานาธิบดีสี จิ้นผิง ของจีนจะเข้าร่วมในการประชุมสุดยอดด้านสภาพภูมิอากาศทางออนไลน์ในสัปดาห์นี้ โดยการประชุมดังกล่าวจัดขึ้นโดยประธานาธิบดีโจ ไบเดน ของสหรัฐ

โฆษกของกระทรวงต่างประเทศจีนระบุว่า ปธน.สีจะเข้าร่วมการประชุมและจะกล่าวสุนทรพจน์ในการประชุมครั้งนี้ด้วย

รายงานระบุว่า สหรัฐและจีนเป็นผู้ปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์รายใหญ่ของโลก และความตึงเครียดระหว่างสองประเทศนั้นเพิ่มสูงขึ้นในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมาจากหลายๆ ประเด็น อย่างไรก็ดี เมื่อสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา นายจอห์น เคอร์รี ทูตพิเศษด้านสภาพอากาศของสหรัฐได้ทำข้อตกลงกับจีนในการร่วมมือกันแก้ไขปัญหาสภาพภูมิอากาศและให้คำมั่นว่าจะดำเนินการในเรื่องนี้ด้วยความจริงจังและเร่งด่วน

ปธน.ไบเดนได้เชิญผู้นำ 40 ประเทศทั่วโลกเข้าร่วมการประชุมทางออนไลน์ที่จัดขึ้นเป็นเวลา 2 วัน และจะเป็นการปูทางสู่การประชุมการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศแห่งสหประชาชาติ (COP26) ที่เมืองกลาสโกว์ ประเทศสกอตแลนด์ ในเดือนพ.ย.นี้

ทั้งนี้ ปธน.ไบเดนได้พยายามที่จะกอบกู้ความเชื่อมั่นจากทั่วโลก หลังจากที่รัฐบาลของอดีตประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ถอนตัวออกจากความตกลงปารีสว่าด้วยการแก้ปัญหาโลกร้อน ขณะที่ปธน.ไบเดนตัดสินใจกลับเข้าร่วมข้อตกลงดังกล่าวทันทีหลังจากเข้ารับตำแหน่ง

เจ้าหน้าที่ทำเนียบขาวเปิดเผยว่า สหรัฐจะลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกลงให้ได้อย่างน้อยครึ่งหนึ่งภายในปี 2573 หรือเกือบสองเท่าที่สหรัฐเคยให้คำมั่นไว้ก่อนหน้านี้

คณะทำงานของทำเนียบขาวได้แจ้งให้ผู้สนับสนุนแผนการดังกล่าวทราบว่า ประธานาธิบดีโจ ไบเดนจะประกาศเป้าหมายลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของสหรัฐลงครึ่งหนึ่งจากระดับในปี 2548 อันเป็นความพยายามที่จะเปลี่ยนแปลงภาคส่วนต่างๆ ของเศรษฐกิจ รวมถึงเป็นผู้นำโลกในการต่อสู้กับการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ

การลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกลง 50% ภายในปี 2573 คิดเป็นปริมาณเกือบสองเท่าของเป้าหมายในการแก้ไขปัญหาสภาพภูมิอากาศภายในปี 2568 ที่รัฐบาลสมัยอดีตประธานาธิบดีบารัก โอบามาได้เคยกำหนดไว้ อย่างไรก็ดี หนึ่งในแหล่งข่าวระบุว่า คณะทำงานพยายามเลี่ยงที่จะไม่กำหนดเป้าหมายเป็นตัวเลข

ทั้งนี้ การลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกให้ได้ตามแผนนั้นจะต้องอาศัยการเปลี่ยนแปลงในวงกว้าง ทั้งด้านการผลิตไฟฟ้า, การขนส่ง และการผลิต โดยการให้คำมั่นของสหรัฐถือเป็นส่วนหนึ่งของการร่วมผลักดันทั่วโลก เพื่อรักษาระดับค่าเฉลี่ยของอุณหภูมิโลกไม่ให้เพิ่มขึ้นมากกว่า 1.5 องศาเซลเซียส (2.7 องศาฟาเรนไฮต์)


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ