นางคริสตาลินา จอร์เจียวา ผู้อำนวยการกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) เปิดเผยเมื่อวานนี้ว่า ข้อตกลงระดับโลกเพื่อกำหนดอัตราการจัดเก็บภาษีนิติบุคคลปี 2564 เพื่อแก้ไขข้อบกพร่องในระบบจัดเก็บภาษีระดับระหว่างประเทศนั้น มีแนวโน้มว่าจะเป็นไปได้ด้วยดี
"ปัจจุบันเราเผชิญกับวิกฤตการณ์ครั้งรุนแรงและมีค่าใช้จ่ายมหาศาลถึง 2 ประการ ได้แก่ การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 และการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ ความจำเป็นเร่งด่วนเหล่านี้ ประกอบกับกระแสความร่วมมือระดับพหุภาคคีครั้งใหม่ เปิดโอกาสให้เราพิจารณาและแก้ไขระบบการจัดเก็บภาษีในระดับระหว่างประเทศ" นางจอร์เจียวากล่าวในงานแถลงข่าวเปิดตัวหนังสือทางออนไลน์
นางจอร์เจียวาระบุว่า IMF พร้อมให้การสนับสนุนเต็มที่กับกรอบความตกลงร่วมมือการป้องกันการกัดกร่อนฐานภาษีและการโอนกำไรไปต่างประเทศ (Inclusive Framework on Base Erosion and Profit Shifting หรือ BEPS) ซึ่งเป็นแนวทางในการปฏิรูประบบจัดเก็บภาษีระดับระหว่างประเทศขององค์การเพื่อความร่วมมือและการพัฒนาทางเศรษฐกิจ (OECD) ที่มีสมาชิก 139 ประเทศ
"แนวทางพหุภาคีเช่นนี้คือหนทางเดียวที่เราจะรับประกันได้ว่า บริษัทข้ามชาติที่ทำกำไรได้มากมายนั้นจะจ่ายภาษีในระดับที่เหมาะสม และมีการจ่ายภาษีให้กับประเทศที่บริษัทมีความเกี่ยวข้องทางธุรกิจอย่างมีนัยสำคัญ รวมถึงประเทศกำลังพัฒนาที่มีรายได้น้อย" นางจอร์เจียวากล่าว
"เรามองว่าข้อตกลงระดับโลกเพื่อกำหนดอัตราการจัดเก็บภาษีนิติบุคคลปี 2564 มีแนวโน้มว่าจะเป็นไปได้ด้วยดี" นางจอร์เจียวากล่าวเสริม "นอกจากนี้ ข้อตกลงดังกล่าวยังจำเป็นอย่างมากต่อการป้องกันไม่ให้ในอนาคตนั้นเกิดระบบการจัดเก็บภาษีที่มีความวุ่นวาย หรือเกิดสงครามการค้าที่จะทำให้ทุกฝ่ายเสียผลประโยชน์"
ถ้อยแถลงของนางจอร์เจียวามีขึ้นหลังจากนางเจเน็ต เยลเลน รัฐมนตรีคลังสหรัฐเรียกร้องให้ประเทศในกลุ่ม G20 บรรลุข้อตกลงเกี่ยวกับการกำหนดอัตราภาษีขั้นต่ำสำหรับภาคธุรกิจในระดับโลก ซึ่งจะช่วยให้ประเทศต่างๆ แข่งขันกันได้อย่างเท่าเทียมมากขึ้น
"เป็นเรื่องสำคัญที่รัฐบาลต่างๆ จะต้องมีระบบภาษีที่มีเสถียรภาพเพื่อสร้างรายได้ที่เพียงพอให้แก่รัฐบาลในการใช้จ่ายในภาคสาธารณะ และการรับมือกับวิกฤตการณ์ ขณะที่ประชาชนก็ต้องแบกรับความรับผิดชอบในสัดส่วนที่เหมาะสมในการสนับสนุนด้านการเงินแก่ทางรัฐบาล" นางเยลเลนกล่าว