องค์การอาหารและเกษตรแห่งสหประชาชาติ (FAO) รายงานว่า ราคาอาหารทั่วโลกในเดือนเม.ย.ปรับตัวขึ้นเป็นเดือนที่ 11 ติดต่อกัน โดยปรับตัวขึ้น 1.7% จากเดือนมี.ค. และพุ่งขึ้น 30.8% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว
FAO ระบุว่า ดัชนีราคาอาหาร (FFPI) เดือนเม.ย. เฉลี่ยอยู่ที่ 120.9 จุด ซึ่งทำสถิติสูงสุดนับตั้งแต่เมื่อเดือนพ.ค. 2557 ขณะที่ดัชนีย่อยของ FFPI ล้วนปรับตัวสูงขึ้น
ราคาน้ำตาลปรับตัวขึ้นมากที่สุดในเดือนเม.ย. โดยพุ่งขึ้น 3.9% จากเดือนมี.ค. ซึ่งเป็นผลมาจากการคาดการณ์ที่ว่า ปริมาณน้ำตาลในตลาดโลกจะปรับตัวลดลง เนื่องจากกระบวนการเก็บเกี่ยวที่ช้าลงในบราซิล รวมทั้งความเสียหายจากภาวะน้ำค้างแข็งในฝรั่งเศส นอกจากนี้ FAO ระบุว่าขณะนี้ราคาน้ำตาลสูงกว่าระดับของปีที่แล้วเกือบ 60%
ส่วนราคาธัญพืชและธัญญาหาร ซึ่งเป็นองค์ประกอบที่มีสัดส่วนมากที่สุดในดัชนีอาหารโลกนั้น ปรับตัวขึ้น 1.8% ในเดือนเม.ย. จากระดับของเดือนมี.ค. และเพิ่มขึ้น 26% เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีที่แล้ว ขณะที่ราคาข้าวลดลงเล็กน้อย และราคาข้าวสาลีทรงตัว
ด้านราคาน้ำมันพืชเพิ่มขึ้น 1.8% ขณะที่ราคาน้ำมันเมล็ดทานตะวันปรับตัวลดลง สวนทางกับราคาถั่วเหลืองและน้ำมันปาล์มที่ปรับตัวเพิ่มขึ้น
ราคาผลิตภัณฑ์นมปรับตัวขึ้น 1.2% ขณะที่ราคาเนื้อเพิ่มขึ้น 1.7% โดย FAO ระบุว่า ราคาอาหารทั้งสองประเภทได้รับแรงหนุนจากอุปสงค์ที่เพิ่มขึ้นจากจีนและตลาดอื่นๆในเอเชีย
สำนักข่าวซินหัวรายงานว่า ดัชนีราคาอาหารโลกของ FAO คำนวณจากราคาสินค้าโภคภัณฑ์สำหรับการบริโภคจำนวน 23 ประเภท โดยครอบคลุมถึงราคาผลิตภัณฑ์ต่างๆจำนวน 73 รายการ