แดเนียล แอนเดอร์สัน นักไวรัสวิทยาผู้เชี่ยวชาญด้านไวรัสที่มีพาหะเป็นค้างคาว เปิดเผยประสบการณ์การทำงานที่สถาบันไวรัสวิทยาแห่งอู่ฮั่น โดยเธอปฏิเสธกระแสข่าวลือที่ว่า เชื้อไวรัสโควิด-19 หลุดออกมาจากห้องทดลองของสถาบันแห่งนี้
แอนเดอร์สันกล่าวว่า ความจริงเพียงครึ่งเดียว และการบิดเบือนข้อมูลนั้น ถือเป็นอุปสรรคสำคัญที่ขัดขวางการรับรู้ข้อมูลที่แท้จริงเกี่ยวกับกลไกการทำงานในห้องทดลองซึ่งเป็นสถานที่ที่นักวิจัยจะทำงานโดยใช้หลักปฏิบัติที่เป็นสากล
"การทำงานในห้องทดลองมีหลักปฏิบัติที่เป็นสากล และหลักปฏิบัติของห้องทดลองในสถาบันไวรัสวิทยาแห่งอู่ฮั่นก็มีมาตรฐานเดียวกันกับห้องทดลองอื่นๆ ข่าวลือที่พูดกันในขณะนี้ เป็นคำพูดของคนที่ไม่รู้ว่าความจริงแล้วพวกเราทำงานกันอย่างไร" แอนเดอร์สันกล่าว
รายงานระบุว่า ก่อนที่จะมีรายงานพบผู้ติดเชื้อโควิด-19 รายแรกในจีนเพียงไม่กี่สัปดาห์นั้น แอนเดอร์สันได้ปฏิบัติงานที่ห้องแล็บ BSL-4 ของสถาบันไวรัสวิทยาแห่งอู่ฮั่น ซึ่งเป็นห้องแล็บแห่งแรกในจีนแผ่นดินใหญ่ที่มีอุปกรณ์พร้อมรับมือเชื้อที่มีความรุนแรงได้และในภายหลังก็ได้กลายมาเป็นจุดสนใจของทั้งโลก
แอนเดอร์สันเป็นนักวิทยาศาสตร์ต่างชาติเพียงรายเดียวที่เข้าร่วมการวิจัยที่ห้องแล็บดังกล่าว และการปฏิบัติหน้าที่ครั้งล่าสุดของเธอสิ้นสุดลงในเดือนพ.ย. 2562 จึงทำให้เธอเป็นผู้มีประสบการณ์ตรงในสถานที่ที่เป็นจุดสำคัญในการค้นหาสาเหตุของโรคระบาดที่รุนแรงที่สุดในรอบศตวรรษ
ขณะนี้ ทั้งผลงานวิจัยจากห้องแล็บดังกล่าว และสือ เจิ้งลี่ ผู้อำนวยการฝ่ายโรคระบาดที่เกิดใหม่ ต่างก็ต้องเผชิญกับข้อครหามากมาย โดยสหรัฐได้ตั้งข้อสงสัยถึงความปลอดภัยของห้องแล็บดังกล่าว และกล่าวหาว่า เหล่านักวิจัยได้ปรับแต่งไวรัสให้มีประสิทธิภาพมากขึ้นเพื่อใช้ในการศึกษา ซึ่งอาจทำให้เชื้อไวรัสนั้นมีความอันตรายมากขึ้น
อย่างไรก็ดี ข้อกล่าวหานี้ดูจะไม่เป็นไปในทิศทางเดียวกันกับประสบการณ์การทำงานที่แอนเดอร์สันเปิดเผยระหว่างการให้สัมภาษณ์กับสำนักข่าวบลูมเบิร์ก
เชื้อไวรัสโควิด-19 ถูกตรวจพบเป็นครั้งแรกในเมืองอู่ฮั่นที่เป็นที่ตั้งของสถาบันดังกล่าว และการที่นักวิจัยจากสถาบันสวมใส่ชุดป้องกันทั้งตัวและทำการศึกษาเชื้อไวรัสตระกูลเดียวกัน ก็ได้ทำให้เกิดกระแสคาดเดาว่า เชื้อไวรัสโควิด-19 อาจรั่วไหลมาจากห้องทดลองจากเจ้าหน้าที่ที่ติดเชื้อหรือวัตถุปนเปื้อนอื่นๆ
ทั้งนี้ การขาดความโปร่งใสของรัฐบาลจีนในช่วงที่แรกเริ่มของการแพร่ระบาดนั้น ยิ่งทำให้หลายฝ่ายเกิดความเคลือบแคลงมากขึ้น นอกจากนี้ การที่สหรัฐโดดเข้าร่วมวงเพื่อเกาะกระแสดังกล่าว ก็ส่งผลให้ความพยายามในการสืบหาต้นตอของเชื้อไวรัสซึ่งจำเป็นต่อการป้องกันโรคระบาดในอนาคต ได้กลายเป็นสถานการณ์ทางภูมิศาสตร์การเมืองที่มีความอ่อนไหวมากในขณะนี้