รายงานขององค์การอาหารและการเกษตรแห่งสหประชาชาติ (FAO) ซึ่งจัดทำขึ้นร่วมกับองค์การเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา (OECD) เผยว่า ราคาสินค้าโภคภัณฑ์ประเภทอาหารมีแนวโน้มปรับตัวลดลงในช่วง 10 ปีข้างหน้า เนื่องจากผลผลิตที่เพิ่มมากขึ้น อย่างไรก็ดี เป้าหมายที่จะลดความหิวโหยและการปล่อยก๊าซเรือนกระจกทั่วโลกนั้นยังไม่มีแนวโน้มว่าจะบรรลุผลตามนโยบายในปัจจุบัน
ราคาสินค้าโภคภัณฑ์เกษตรปรับตัวขึ้นมาตั้งแต่ปีที่แล้ว เนื่องจากจีนนำเข้าสินค้าเพิ่มขึ้น รวมถึงสต็อกสินค้าที่เข้าสู่ภาวะตึงตัว ซึ่งส่งผลให้ FAO คาดการณ์เมื่อเดือนที่ผ่านมาว่า ผู้นำเข้าอาหารจะเผชิญกับต้นทุนที่สูงเป็นประวัติการณ์ในปีนี้
อย่างไรก็ตาม ราคาของสินค้าโภคภัณฑ์เกษตรส่วนใหญ่จะปรับตัวลงเล็กน้อยในช่วงทศวรรษข้างหน้า และมีแนวโน้มถึงการปรับปรุงการผลิตเพื่อตอบสนองอุปสงค์ที่เพิ่มขึ้นจากจำนวนประชาการที่เพิ่มขึ้นในระยะยาว
รายงานระบุว่า อุปสงค์จากจีนจะยังคงเป็นแรงขับเคลื่อนตลาดสินค้าเกษตรทั่วโลก โดยเฉพาะเนื้อสัตว์ ปลา และเมล็ดพันธุ์พืชอาหารสัตว์ อย่างไรก็ดี ปริมาณความต้องการดังกล่าวจะเพิ่มขึ้นในอัตราที่ช้าลงกว่าช่วง 10 ปีที่ผ่านมา เนื่องจากประชากรจีนมีอัตราเพิ่มขึ้นช้าลง ประกอบกับปริมาณการบริโภคสินค้าอาหารบางประเภทอยู่ในระดับคงที่
นอกจากนี้ รายงานยังระบุว่า ปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกโดยรวมจากภาคการเกษตรนั้นมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น 4% ในช่วง 10 ปี ซึ่งยังไม่ลดลง โดยกิจกรรมในภาคปศุสัตว์มีอัตราการปล่อยก๊าซเรือนกระจกราว 80% ขณะที่เป้าหมายขององค์การสหประชาชาติ (UN) ที่มุ่งหวังขจัดความหิวโหยให้หมดไปภายในปี 2573 ก็ยังอีกยาวไกล
นายมาเธียส คอร์แมนน์ เลขาธิการ OECD กล่าวว่า "ปัญหาอยู่ที่การกระจายและการเข้าถึงอาหารในบางภูมิภาค" และย้ำถึงข้อเรียกร้องของ OECD ที่ต้องการให้เปลี่ยนจากการให้เงินอุดหนุนการทำฟาร์มมาเป็นการมุ่งเน้นด้านโครงสร้างพื้นฐานและนวัตกรรมแทน