สำนักข่าวรอยเตอร์รายงานว่า บริษัทบิออนเทคระบุในอีเมลถึงรอยเตอร์ว่า บิออนเทคไม่ได้มีการเจรจากับบมจ.ธนบุรี เฮลท์แคร์ กรุ๊ป ทั้งยังได้ปฏิเสธว่าบริษัทไม่ได้มีการเจรจากับบริษัทไทยแม้แต่ที่เดียวด้วย
ความเคลื่อนไหวดังกล่าวมีขึ้น หลังก่อนหน้านี้ นพ.บุญ วนาสิน ประธานกรรมการ บมจ.ธนบุรี เฮลท์แคร์ กรุ๊ป (THG) เปิดเผยว่า ในช่วงเย็นหรือค่ำวันนี้ (15 ก.ค. 64) ทางโรงพยาบาลธนบุรีจะเซ็นสัญญากับตัวแทนในสหรัฐเพื่อสั่งซื้อวัคซีนโควิด-19 ของบิออนเทคซึ่งเป็นวัคซีนในกลุ่มไฟเซอร์ที่ร่วมกันพัฒนา ซึ่งจะเป็นการนำเข้าผ่านหน่วยงานภาครัฐที่จะมาเป็นตัวกลาง โดยจะระบุรายชื่อในเอกสารการเซ็นสัญญากับตัวแทนขายดังกล่าว
ทั้งนี้ หน่วยงานภาครัฐที่จะเข้ามาช่วยทางโรงพยาบาลในการนำเข้าวัคซีนทางเลือกยืนยันว่าเป็นหน่วยงานที่มีอำนาจในการนำเข้าวัคซีนได้ เป็นหน่วยงานที่ยังไม่มีการนำเข้าวัคซีนมาก่อนหน้านี้ และไม่ได้อยู่ภายใต้กระทรวงสาธารณสุข โดยหน่วยงานที่มีสิทธิในการนำเข้าวัคซีนในปัจจุบัน ได้แก่ กรมควบคุมโรค, องค์การเภสัชกรรม, สถาบันวัคซีนแห่งชาติ, สภากาชาดไทย, ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ หรือหน่วยงานของรัฐที่ให้บริการด้านสาธารณสุข
"ตอนนี้ผมยังไม่สามารถบอกรายชื่อหน่วยงานภาครัฐที่จะเข้ามาเป็นตัวกลางช่วยนำเข้าวัคซีนได้จริงๆ ต้องรอหลังเซ็นสัญญาสั่งซื้อกับสหรัฐฯในช่วงเย็นหรือค่ำวันนี้ให้เสร็จก่อน แล้วจะแจ้งให้ทราบ ซึ่งในสัญญาที่เซ็นก็จะมีรายชื่อหน่วยงานภาครัฐอยู่ในสัญญาด้วย แต่หน่วยงานภาครัฐที่เข้ามาร่วมก็เป็นหน่วยงานที่ยังไม่เคยมีการนำเข้าวัคซีน และไม่ได้เกี่ยวข้องกับกระทรวงสาธารณสุข และการสั่งซื้อทางโรงพยาบาลธนบุรีก็จะเป็นคนสั่งซื้อและจ่ายเงินสั่งซื้อวัคซีนเข้ามาทั้งหมด" นพ.บุญ กล่าว
อนึ่ง นพ.บุญระบุว่า การเซ็นสัญญาสั่งซื้อวัคซีนจากบิออนเทคมีจำนวนทั้งหมด 20 ล้านโดส ซึ่งล็อตแรกที่จะนำเข้ามาในช่วงปลายเดือนก.ค. 64 ราว 5 ล้านโดส ส่วนการขึ้นทะเบียนวัคซีนบิออนเทคกับทางสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) คาดว่าใช้เวลาเพียง 1 วันเนื่องจากเป็นวัคซีนกลุ่มเดียวกับไฟเซอร์ จากนั้น รพ.ธนบุรี จะเปิดให้จองรับบริการฉีดวัคซีนหลังจากที่กระบวนการต่างๆแล้วเสร็จ คาดว่าจะเริ่มเปิดให้จองได้ภายในช่วงปลายเดือนก.ค.นี้