หนังสือพิมพ์นิวยอร์กไทมส์รายงานผลการวิจัยล่าสุดว่า วัคซีนของบริษัทจอห์นสัน แอนด์ จอห์นสัน (J&J) มีประสิทธิภาพลดลงอย่างมากในการป้องกันการติดเชื้อจากไวรัสโควิด-19 สายพันธุ์เดลตาและสายพันธุ์แลมบ์ดา เมื่อเทียบกับสายพันธุ์ปกติ ซึ่งบ่งชี้ว่า อาจมีความจำเป็นที่จะต้องฉีดวัคซีนเพิ่มเติมให้กับประชาชนราว 13 ล้านคนที่ได้รับวัคซีนของ J&J โดยทีมผู้วิจัยให้คำแนะนำว่า การฉีดวัคซีนโดสที่ 2 ควรใช้วัคซีน mRNA ของไฟเซอร์-บิออนเทค หรือวัคซีนของโมเดอร์นา
ดร.นาธาเนียล แลนเดา นักไวรัสวิทยาจาก Grossman School of Medicine แห่งมหาวิทยาลัยนิวยอร์กและผู้นำทีมวิจัยครั้งนี้ เปิดเผยว่า ผลวิจัยดังกล่าวอาจทำให้คณะกรรมการอาหารและยา (FDA) ของสหรัฐต้องหันมาทบทวนคำแนะนำที่ว่า ประชาชนในสหรัฐที่ได้รับวัคซีนครบทั้ง 2 โดสแล้ว ยังไม่จำเป็นต้องได้รับการฉีดวัคซีนกระตุ้นภูมิในขณะนี้
"สิ่งที่เราต้องการจะสื่อสารนั้นไม่ใช่ว่าประชาชนไม่ควรรับวัคซีนของ J&J แต่เราหวังว่าในอนาคตจะมีการฉีดวัคซีนของ J&J, ไฟเซอร์ หรือโมเดอร์นาเพิ่มอีก 1 โดสเพื่อกระตุ้นภูมิคุ้มกันของร่างกาย" ดร.แลนเดากล่าว
แม้ว่าผลวิจัยครั้งนี้จะยังไม่ได้ผ่านการตรวจสอบโดยผู้เชี่ยวชาญหรือเผยแพร่ในวารสารวิทยาศาสตร์ แต่ผู้เชี่ยวชาญส่วนหนึ่งก็ได้เปิดเผยว่า ผลวิจัยที่ออกมานั้นเป็นไปตามที่คาด เนื่องจากวัคซีนของบริษัทอื่นๆ แสดงให้เห็นว่ามีประสิทธิภาพเพิ่มขึ้นเมื่อฉีดครบ 2 โดส
ดร.จอห์น มัวร์ นักไวรัสวิทยาจาก Weill Cornell Medicine ในรัฐนิวยอร์ก กล่าวว่า "ผมมองว่าวัคซีนของ J&J เป็นวัคซีนที่ต้องฉีด 2 โดสมาโดยตลอด และผมพูดเช่นนั้นเสมอมา" โดยดร.มัวร์อ้างอิงถึงผลวิจัยมากมายที่มีการทดลองทั้งในลิงและมนุษย์ ซึ่งระบุว่า การฉีดวัคซีนของ J&J จำนวน 2 โดสนั้นมีประสิทธิภาพมากกว่าการฉีดเพียงโดสเดียว
นอกจากนี้ ดร.มัวร์ยังให้ความเห็นว่า การวิจัยของดร.แลนเดามีความน่าเชื่อถือมาก เนื่องจากทีมผู้วิจัยไม่มีส่วนได้ส่วนเสียกับบริษัทผู้ผลิตวัคซีนใดๆ
ทั้งนี้ ผลวิจัยดังกล่าวขัดแย้งกับผลวิจัยในกลุ่มทดลองเล็กๆที่ J&J เผยแพร่เมื่อต้นเดือนที่ผ่านมา ซึ่งระบุว่า การฉีดวัคซีนของ J&J เพียง 1 โดสก็มีประสิทธิภาพในการป้องกันเชื้อโควิด-19 สายพันธุ์เดลตาได้ แม้จะได้รับการฉีดวัคซีนไปแล้วถึง 8 เดือน